ดีใจได้เฮกันอีกครั้ง เมื่อ ครม. มีมติไฟเขียวลดหย่อน เงินสมทบประกันสังคม ของทั้งนายจ้างลูกจ้างและผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 นาน 3 เดือน เริ่ม ก.ย. – พ.ย. 63 หลังมีการช่วยเหลือไปแล้วช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรณีการระบาดของโรคโควิด 19
ผู้ประกันตนเฮ ครม. ไฟเขียวลดหย่อน เงินสมทบประกันสังคม 2% นาน 3 เดือน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง โดยการให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33
การลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา 33 จากปกติฝ่ายละ 5% ให้เหลือฝ่ายละ 2% ของค่าจ้างลูกจ้างที่ประกันตน ซึ่งผู้ที่ส่งเงินประกันสังคมเต็มเพดาน 750 บาท จะเหลือเพียง 300 บาท คิดเป็นเงินที่ประหยัดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 เฉลี่ย 1,022 บาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39
สำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดือนละ 96 บาท จากปกติที่ต้องจ่ายเดือนละ 432 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2563 คิดเป็นเงินที่จะช่วยประหยัดของผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ย 1,008 บาท
สำหรับการลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบครั้งนี้ ให้มีผล 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. 2563 ซึ่งทางกระทรวงแรงงานคาดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ ในการช่วยลดภาระผู้ประกันตน 12.79 ล้านคน 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.78 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินว่าภาพรวมการลดหย่อนการออกเงินสมทบจะนำไปสู่การเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 2.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ในการประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2563 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ปี 2563 โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 2% ของค่าจ้างของผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับงวดค่าจ้างเดือน ส.ค.2563 ถึง ต.ค.2563 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของตลาดในประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานพิจารณาแล้ว เพื่อประโยชน์ของนายจ้างและผู้ประกันตน หากกำหนดให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยเริ่มตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน ส.ค.2563 ซึ่งจะต้องชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ก.ย.2563 จะก่อให้เกิดภาระแก่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่จะต้องมาขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินคืนในงวดค่าจ้างเดือน ส.ค.2563 และเพื่อเป็นการให้ระยะเวลาแก่หน่วยงานภาคเอกชนที่มีหน้าที่ดำเนินการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลดหย่อนการออกเงินสมทบดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงพิจารณาระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน ก.ย.2563 ถึง พ.ย.2563
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ต่างกันอย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ สำหรับมนุษย์เงินเดือนเมื่อเข้าทำงานบริษัทหรือสถานที่ประกอบการส่วนใหญ่นั้น จะมีการทำประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตรทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยระบบกองทุนประกันสังคมนั้น มีผู้ประกันตนทั้งหมด 3 ประเภท คือ
- พนักงานเอกชนทั่วไป (มาตรา 33) ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี
- เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก (มาตรา 39) ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี
- อาชีพอิสระ/แรงงานนอกระบบ (มาตรา 40) ได้รับความคุ้มครอง 3 หรือ 4 กรณี
หลายคนอาจจะไม่ทราบรายละเอียดของการต้องส่งจ่ายประกันสังคมทุกเดือนว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง และแม้ว่าผู้ประกันตนแต่ละประเภทจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนเหมือนกัน แต่ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วยสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน www.jobsdb.com ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ คุณสมบัติของผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 ดังนี้
ผู้ประกันตนภาคบังคับ มาตรา 33
ผู้ประกันตนในกลุ่มนี้ คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนดังนี้ ลูกจ้าง 5% + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) จะได้รับความคุ้มครอง มีดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39)
ผู้ประกันตนในมาตรากลุ่มนี้ คือ บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
ทั้งนี้การจ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมทุกเดือน จะแตกต่างกันไปตามประเภทของผู้ประกันตน ตามอัตราเงินเดือนของแต่ละคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิทธิประโยชน์นั้นแตกต่างกันไปตามหลักประกันด้วย
สามารถตรวจสอบสิทธิหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.posttoday.com, www.bangkokbiznews.com, www.kapook.com
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
วิธี เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ง่ายๆ แต่ละมาตรา 33 39 40 ต่างกันอย่างไร?
วิธี เช็คยอดเงินประกันสังคม อย่างละเอียด เช็กง่ายแค่ปลายนิ้ว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่