พญ. ศาธิณี ลิมปิสุข แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่าเมื่อเป็น “หวัด” บางคนอาจมีอาการแตกต่างกัน แต่สาเหตุการเกิดโรคเหมือนกัน คือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นเมื่อเราเป็น โรคหวัด สิ่งที่ต้องทำก็คือ สังเกตตัวเองว่า “หวัด” นั้น เป็นหวัดแบบไหน ไวรัส หรือ แบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นหวัดไวรัส อาการ คือ เพลีย ไอ เจ็บคอ และมีน้ำมูกบ้าง ใช้เวลา 2-3 วัน ก็หายเองได้ แค่พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้ามีอาการหนักกว่านี้ ลองสังเกตตัวเองเบื้องต้นก่อนว่า เราเป็นหวัดชนิดไหน ดังนี้
วิธีสังเกต โรคหวัด “ไวรัส” หรือ “แบคทีเรีย”
- สังเกตสีของน้ำมูกและเสมหะ ถ้าเป็นแบคทีเรีย จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว บางครั้งอาจเป็นสีน้ำตาลหรือมีปนเลือดต้องทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย พวกแอนตี้ไบโอติก หรือยาปฏิชีวนะ
- ใช้ไฟฉายส่องดูคอในกระจก โดยอ้าปากให้กว้างที่สุด แล้วสูดหายใจ“เข้า” ทาง “ปาก” ลิ้นจะต่ำลง ลิ้นไก่จะยกตัวขึ้น เปิดให้เห็นหลังคอ ไม่ต้องแลบลิ้น เกร็งลิ้น หรือกระดกลิ้น จากนั้นให้สังเกตว่าคอแดงหรือไม่ ต่อมทอนซิลที่อยู่ด้านข้าง บวมแดงเป็นหนองหรือเปล่า ถ้าคอดูแดงมาก มีหนอง ลิ้นไก่บวมแดง ต่อมทอนซิลโตบวมแดงเป็นหนอง น่าจะเป็นแบคทีเรีย ซึ่งหากไม่ได้กินยาฆ่าเชื้อ อาจหายหวัดด้วยตัวเองยากหรือค่อนข้างช้า
- สังเกตอาการของไข้หวัดใหญ่ (influenza) มีลักษณะเด่นๆ ที่นอกเหนือไปจากอาการของระบบทางเดินหายใจ คือ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ตาแดง เป็นผื่น ช่วงเริ่มต้นจะแสดงอาการติดเชื้อไวรัสเหมือนๆ กัน แยกไม่ออกว่าเป็นโรคอะไร จนกว่าอาการอื่นที่ชัดเจนของโรคนั้นๆจะปรากฏขึ้น เช่น
– หากมีอาการ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดตัว ร่วมกับอาการหวัดและเป็นค่อนข้างหนัก ให้สงสัยว่าเป็น “ไข้หวัดใหญ่”
– หากมีอาการของไวรัสร่วมกับไข้สูง แถมมีประวัติโดนยุงลายกัด ให้นึกถึงไข้เลือดออก
– หากมีอาการของไวรัสร่วมกับตัวเหลืองตาเหลือง ให้นึกถึง ไวรัสตับอักเสบ
เมื่อเรากินยารักษาโรคหวัดแล้ว ให้สังเกตอาการต่อว่าดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้น แสดงว่ายาได้ผลดี แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงใน 2-3 วัน ควรกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง หรือถ้าดีขึ้นเหมือนจะหาย แต่พอหยุดยาฆ่าเชื้อ อาการกลับมาเป็นอีก ทั้งเจ็บคอ มีไข้ ไอ มีเสมหะ ก็ต้องกลับมาหาคุณหมอเพื่อดูว่าเชื้อดื้อยาหรือเปล่า อาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อตัวเดิมต่อหรือควรปรับยาฆ่าเชื้อให้แรงขึ้น
เมื่อใช้ยารักษาแล้วอย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเอง ปรับสมดุลชีวิตตัวเองบ้าง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ลดความเครียดลง หรือทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น และรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน…เพื่อไม่ให้หวัดมาเยือนเราอีกค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ
ลูกเป็นไข้หวัด ไม่รับประทานยา จะหายได้หรือไม่?
ลูกเป็นหวัดเรื้อรัง ดูแลอย่างไรดีนะ?
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ AMARIN Baby & Kids
ภาพ : shutterstock
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?