การอ่านไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือนิทาน การอ่านข่าว อ่านป้าย หรือแม้แต่การที่คุณพ่อคุณแม่นำเรื่องราวจากการอ่านมาบอกเล่าให้ลูกฟัง ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งการอ่านให้ลูกฟังทุกวันจะช่วยให้ลูกฉลาดและเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต โดยมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การอ่านช่วยพัฒนาสมองเด็กได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ 3 เรื่องดังต่อไปนี้
1. การอ่านช่วยพัฒนาการสื่อสารและภาษาในเด็กเล็ก
ช่วงที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หูลูกจะได้ยินเสียง ส่วนตาก็ได้เห็นรูปภาพที่ประกอบ พร้อมกับตัวหนังสือ สิ่งนี้เองที่เชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาโดยที่เด็กๆ อาจไม่รู้ตัว เพราะเขาจะได้เรียนรู้จักคำ รู้จักเสียง เมื่อพัฒนาการด้านภาษาดี ก็จะส่งผลให้การเรียนรู้ในอนาคตดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวของลูกจะเร็วขึ้นได้ ก็เพราะการได้เคยฟัง เคยเห็น เคยจำ จากการอ่าน ส่งผลทำให้มีพื้นฐานภาษาที่ดี ลูกจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เขาสนใจได้ด้วยตัวเอง และเริ่มพูดสื่อสารกับผู้อื่นได้เก่งขึ้น รู้จักใช้คำต่างๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นการอ่านจึงเป็นการเก็บเกี่ยวคำศัพท์สะสมเป็นคลังคำในสมอง ช่วยให้เด็กจดจำคำได้มากขึ้น เมื่อเขาอยากสื่อสารก็สามารถนำคำต่าง ๆ ที่สะสมไว้มาใช้ได้นั่นเอง
2. การอ่านสร้างความเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวในหนังสือ
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า เมื่อลูกได้ฟังเรื่องราว หรือได้ฟังนิทานจากหนังสือ ลูกจะสามารถเชื่อมโยง และเข้าใจในเรื่องราว เหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ยิ่งหากพ่อแม่ได้เล่า พร้อมเสริมความรู้ สอดแทรกคติสอนลูก หรือถามคำถามให้ลูกได้ฝึกคิด วิเคราะห์ ผลจากการอ่านและฟังนั้น จะทำให้ลูกเกิดความเข้าใจ จนนำไปสู่ทักษะสำคัญ ได้แก่
-
ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา
เด็กกลุ่มที่อ่านหนังสือจะมีทักษะการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่ดี เพราะเขาสามารถเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ
ได้ดีกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่านนิทานหรือหนังสือเด็ก ที่มักจะมีเรื่องราวของเหตุการณ์ การแก้ปัญหา และการคลี่คลาย สถานการณ์ เด็กจึงได้เรียนรู้ว่าควรตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างไร
-
ทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
หนังสือนิทานมักจะมีเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวละครน่ารัก ที่มีข้อคิด คติธรรม หรือคุณธรรมแฝงอยู่เสมอ ทั้งเรื่อง
ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ การนึกถึงคนรอบข้าง ผลของทำดีและการทำสิ่งต่างๆ ที่สอนใจให้เด็กคิดดี ทำดี ซึ่งข้อคิดและ เรื่องราวเหล่านี้จะทำให้เด็กเรียนรู้และซึมซับสิ่งดีๆ เช่นนี้โดยไม่รู้ตัว ทำให้ลูกรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับเพื่อนหรือผู้อื่น
3. การอ่านทำให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์
หนังสือหรือนิทานสำหรับเด็ก มักจะมีการลำดับเรื่องราวเป็นขั้นตอน และไม่ซับซ้อนมากเหมือนของผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มีบทเรียน ผลของการกระทำในแต่ละตัวละครให้ลูกได้เรียนรู้ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาระบบความคิดเชิงวิเคราะห์ ว่าควรทำแบบไหน และแบบไหนคือดีและไม่ดี ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังสม่ำเสมอ และให้ลูกได้ฝึกอ่าน จะทำให้ลูกน้อยที่โตขึ้น สามารถอ่านหนังสือและเล่าเรื่องหรืออธิบายสิ่งต่างๆ ได้ดี รวมถึงการสื่อเรื่องราวผ่านการลงมือทำต่างๆ ได้ดีด้วย เช่น การวาดภาพ ซึ่งเด็กกลุ่มที่ได้อ่านนิทาน ได้เห็นนิทานที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง จะวาดภาพที่มีรายละเอียด มีคำอธิบาย มีที่มาที่ไป ลำดับเรื่องได้ดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ
จากที่กล่าวไปในข้างต้นจะเห็นได้ว่า การอ่านหนังสือสร้างประโยชน์ให้ลูกน้อยอย่างมหาศาล ดังนั้นเรามาชวนลูกรักให้อ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 15 นาทีกันเถอะ ซึ่งตอนนี้ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทำโครงการส่งความรู้ สร้างความสุข ปี 2 ที่มีกิจกรรมดีๆ อาทิ บริจาคหนังสือสู่โรงเรียน หรือกิจกรรมบันทึกรักการอ่าน ที่ให้เด็กๆ ได้เขียนบันทึกสิ่งที่ได้อ่านและความประทับใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำวิธีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับลูกน้อยเพื่อกระตุ้นการอ่านและพัฒนาทักษะด้านภาษาให้กับลูกน้อยได้
หากสนใจอยากติดตามกิจกรรมการอ่านอื่นๆ สามารถติดตามได้ที่ FB : www.thehappyread.com รับรองว่าไม่ผิดหวัง ได้สาระการอ่านดีๆ ไปฝากลูกน้อยแน่นอนค่ะ