ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ “มหกรรมวิทย์ 63” สร้างปรากฏการณ์ Hybrid Event ที่สมบูรณ์แบบที่สุด อพวช. มั่นใจปี 2564 พร้อมจัดงานทั้งออนกราวน์และออนไลน์ สู้โควิด-19
ตลอด 11 วันของการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563” ตั้งแต่วันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่ผ่านมา โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไปในการเข้าเยี่ยมชมผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย จากทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศกว่า 93 หน่วยงาน 11 ประเทศ
ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ อพวช. ได้จัดงานมหกรรมวิทย์ฯ ในรูปแบบใหม่อย่าง Hybrid Event ตามแบบฉบับวิถีใหม่ (New Normal) โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานสามารถเข้าชมได้ 2 ช่องทาง 1.เข้าชมสถานที่จริง (On Ground) และ 2.เข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) ในรูปแบบ Virtual Exhibition นิทรรศการเสมือน 360 องศา ซึ่งเป็นการจำลองบรรยากาศงานจริงสู่โลกออนไลน์ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในยุคโควิด-19 ผ่านทาง www.thailandnstfair.com
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่ อพวช. จัดงานในรูปแบบ Hybrid Event เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ โดยอพวช. เปิดให้ผู้เข้าชมงานแบบออนกราวน์ได้ทะเบียนก่อนเข้าชมงานซึ่งยอดการจองเต็มทุกรอบทุกวัน ส่วนผู้ที่มาลงทะเบียนหน้างาน (Walk-in) มียอดการลงทะเบียนเต็มจำนวนทุกรอบทุกวันเช่นกัน”
สำหรับการชมแบบออนไลน์ซึ่งเป็นมิติใหม่สำหรับคนไทยก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสามารถรับชมพร้อมกันได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งโรงเรียนต่าง ๆ ก็สามารถเข้าให้นักเรียนไปรับชมได้ โดยไม่ต้องเดินทางมารับชมที่งานด้วยตัวเอง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในต่างจังหวัดที่ห่างไกลได้มีโอกาสได้ชมงานแค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสอีกด้วย นอกจากนี้เวลาที่อยู่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเปิดชมพร้อมกันได้ทั้งครอบครัวอย่างสนุกสนาน
“ปีนี้เราอาจจะรองรับกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้ลดน้อยลง แต่เราได้กลุ่มครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ในตลอด 11 วันของการจัดงาน เราได้เห็นบรรยากาศครอบครัวพากันมาชมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการมาชมงานแบบ 3 เจนเนอเรชั่น คือ ปู่ยาตายาย พ่อแม่ และลูก เป็นภาพที่น่ารักไปอีกแบบ ยิ่งในช่วงวันหยุดยาวและเสาร์อาทิตย์งานมหกรรมวิทย์ฯ เต็มไปด้วยครอบครัวที่พาลูกพาหลานตั้งแต่ระดับเด็กเล็กจนถึงเด็กโตมาชมงานอย่างคึกคัก”
จากความสำเร็จในปีนี้เกิดจากการผนึกกำลังสำคัญจากทุกภาคส่วน และ อพวช. มั่นใจว่าในปี 2564 ประเทศไทยยังต้องอยู่กับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป ซึ่งจากประสบการณ์ครั้งนี้ อพวช. ก็มีความพร้อมในการเตรียมจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564” ซึ่งใผู้เข้าชมงานจะได้พบกับนวัตกรรมการเข้าชมงานรูปแบบใหม่ที่ล้ำกว่าปีนี้อย่างแน่นอน
ตลอด 11 วัน 93 นิทรรศการมีผู้สนใจแวะเวียนเข้าชมจำนวนมาก ทั้ง 1 วัน (บนดาว) อังคาร (SOL#1 : A DAY ON MARS) นิทรรศการที่สอนให้เรียนรู้การใช้ชีวิตบนดาวอังคารแบบฉบับ 1 วัน, ขบวนการพิทักษ์พืช พิทักษ์โลก (PLANT RANGER) การสร้างผู้กล้ามาร่วมขบวนการพิทักษ์พืช เพื่อกอบกู้โลกให้พ้นวิกฤต เจาะนวัตกรรมเกม (TECH BEHIND GAMES) นิทรรศการที่ทำให้เห็นพัฒนาการของเกมจากอดีตเมื่อ 5,000 ปีก่อนจนถึงปัจจุบันกลายเป็นกีฬาออนไลน์ที่สร้างอาชีพนักแคชเกมให้เกิดขึ้นและเป็นหนึ่งในห้าของอาชีพที่เด็กรุ่นใหม่อยากทำมากที่สุด, เมกเกอร์ : คุณสร้างอนาคต (MAKER: MAKE YOUR FUTURE) นิทรรศการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจการเป็นเมกเกอร์ (Maker) ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาในชีวิต ประจำวันและต่อยอดสู่การทำธุรกิจของตนเอง
นิทรรศการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่ได้นำแมวน้ำหุ่นยนต์หรือ “อุ๋งหุ่นยนต์” สัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยบำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือเป็นสัตว์เลี้ยงแก้เหงาให้กับผู้สูงอายุมาแสดงความน่ารักรักชังและแสนรู้ นิทรรศสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ การถ่ายภาพบนดวงดาวซึ่งได้รับความนิยมต่อแถวจนล้นหลาม นิทรรศการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยกับการเป็นผู้ประกาศตัวน้อยที่ไม่ธรรมดาเพราะอ่านข่าวบนดาวอังคาร
ทั้งนี้ ความสนุกและความรู้จากงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563” ไม่ได้จบไปพร้อมกับอีเว้นท์ออนกราวน์เหมือนทุกปี แต่ยังคงสามารถติดตามรับชมกิจกรรมต่างๆ และนิทรรศการเสมือน 360 องศา ได้ที่เว็บไซต์ www.thailandnstfair.com และเรายังมุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมดี ๆ พร้อมส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนไทยมีใจรักในวิทยาศาสตร์ และสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาจต่อยอดให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไป