การอ่านหนังสือหรือนิทานเป็นกิจกรรมที่สร้างความรู้และทักษะการอ่านของเด็กๆ ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่รู้ หรือไม่ว่าจากผลสำรวจที่เคยสอบถามครอบครัวต่างๆ กลับพบว่า มีพ่อแม่เพียง 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ทุกวัน และมีพ่อแม่ถึง 16 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เคยอ่านหนังสือให้ลูกฟังเลย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้โอกาสในการพัฒนาลูก สูญเสียไป วันนี้เรามาเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังกันเถอะ!
โดยปกติคุณพ่อคุณแม่หลายท่านมักคิดว่าควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังตอนที่ลูกอยู่ในวัยที่ฟังพ่อแม่รู้เรื่องแล้ว แต่ความเข้าใจเหล่านี้ถือว่า “ผิด” ด้านสมาคมแพทย์สหรัฐอเมริกาแนะนำว่าควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน เริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เขาเริ่มสนใจสิ่งรอบตัว และมักเพลิดเพลินเมื่อได้ดูหนังสือกับคุณพ่อคุณแม่ แต่จะเริ่มเร็วกว่านั้นก็ได้ เพราะยิ่งพูดคุยกับลูกโดยตรงเท่าไรก็ยิ่งส่งผลดีต่อการเติบโตและพัฒนาการมากขึ้นเท่านั้น และการอ่านยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกได้ง่ายที่สุดอีกด้วย
เทคนิคการอ่านหนังสือที่ดี คือคุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังตามเวลาที่เคยอ่านทุกวัน ซึ่งอาจมีวันละหลายรอบก็ได้ โดยตอนลูกน้อยยังอายุไม่กี่เดือน คุณพ่อคุณแม่จะอ่านอะไรให้ลูกฟังก็ได้ เพราะเขายังเล็กเกินที่จะเข้าใจเนื้อหา แต่สิ่งที่ลูกชื่นชอบมากเป็นพิเศษคือรูปภาพที่มีสีสันสดใส และสีที่ตัดกันของหนังสือ ซึ่งภาพลักษณะนี้มักพบในหนังสือนิทานและหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งภาพประกอบไม่ควรซับซ้อนมากเกินไป เนื่องจากเด็กเล็กแยกไม่ได้ว่าภาพสองมิติขนาดเล็กที่เห็นในหนังสือกับของจริงที่มีสามมิติคือสิ่งเดียวกัน
นอกจากนี้ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังซ้ำ ๆ เพราะลูกรักต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ต้องฟังซ้ำหลาย ๆ ครั้งจึงจะเข้าใจ และเมื่อลูกรักโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการอ่าน โดยการอ่านตามสิ่งที่ลูกสนใจหรืออ่านตามการตั้งคำถามของลูก เพื่อช่วยให้ลูกมีส่วนร่วมในกระบวนการอ่าน ชี้ชวนดูภาพในหนังสือ พูดคุยเกี่ยวกับรูปภาพเรื่องราว และพูดทวนคำที่พบบ่อยๆ หรือเปลี่ยนเสียงตามตัวละครหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือ
อย่างไรก็ตามเรื่องของการอ่าน ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องวิชาการ หรือทำบรรยากาศให้เครียด ไม่ควรเคี่ยวเข็ญสอนเรื่องตัวอักษร การสะกดคำในช่วงวัยเด็กเล็ก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่มีความสุข ไม่สนุกกับการอ่าน จนอาจทำให้ลูกน้อยไม่ชอบการอ่านได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศการอ่านให้มีความสุข สนุก และเน้นการสื่อสารพูดคุยกับลูกมากกว่า เพราะการฟังคุณพ่อคุณแม่อ่านและดูภาพในหนังสือตามจะช่วยให้ลูกค่อยๆ เชื่อมโยงการอ่านออกเสียงกับคำที่ปรากฏบนหน้ากระดาษได้เอง
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังด้วยตนเอง เพราะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูก ซึ่งดีกว่าการฟังนิทานจากซีดี ดูทีวี หรือมือถือ เพราะสื่อเหล่านี้ล้วนเป็นการสื่อสารทางเดียว ลูกรักไม่ได้ฝึกทักษะรอบด้าน แถมยังทำให้เสียสายตา และส่งผลเสียต่อพัฒนาการลูกอีกด้วย