พร้อมเป็นคุณแม่มือใหม่ เตรียมตัว "ฝากครรภ์คุณภาพ” - Amarin Baby & Kids

พร้อมเป็นคุณแม่มือใหม่ เตรียมตัว “ฝากครรภ์คุณภาพ”

event

เมื่อทราบข่าวว่า ได้เป็นว่าที่คุณแม่ป้ายแดง คุณแม่หลายๆท่าน คงตื่นเต้นและกังวลกับการตั้งครรภ์อยู่ไม่น้อย ยิ่งท้องแรกความกังวลอาจจะมากเป็นพิเศษ แต่!! อย่ากังวลจนเกินไปนะคะ มาค่ะ…เรามาเตรียมตัวเพื่อลูกน้อยกับ การ “ฝากครรภ์คุณภาพ” กันนะคะ

ทำไม “การฝากครรภ์” จึงมีความสำคัญ

คุณแม่มือใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับการฝากครรภ์คุณภาพเป็นพิเศษ พิถีพิถันเพื่อการดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อยให้แข็งแรง เพื่อลูกน้อยที่จะเกิดขึ้นมา เป็นของขวัญชิ้นที่งดงามที่สุด และแสนพิเศษเพื่อคุณภาพชีวิตของเด็กเอง ที่กำลังจะลืมตาขึ้นมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว ให้ได้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง และเป็นอนาคตที่สำคัญของสังคม

ทราบหรือไม่ว่า ?

  • อัตราการเสียชีวิตของมารดาตั้งครรภ์ทั่วโลก 157 ต่อ 100,000 คน (0.157%) ในปี 2020 (ข้อมูลจาก WHO)
  • 10-20% ของทุกการตั้งครรภ์ อาจเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ
  • 2-14% มีโอกาสเป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • 6% อาจมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • 2-8% อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • 10% อาจมีภาวะคลอดก่อนกำหนด

ดังนั้น “การฝากครรภ์” จึงมีความสำคัญกับทั้งคุณแม่และลูกน้อยมากๆ เพื่อการเตรียมตัว และดูแลตัวเอง ให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจมากับโรคที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจทราบได้จากตอนตั้งครรภ์จากการเจาะเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อทำการติดตามการรักษาควบคู่ไม่ให้เป็นพาหะส่งถึงลูกน้อย

“การฝากครรภ์คุณภาพ” หมายถึง

การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์และการฝากครรภ์อย่างน้อย  5 ครั้งตลอดระยะการตั้งท้อง เพื่อให้มารดาและทารกได้รับการบริการทางสุขภาพที่ครบถ้วนและดีที่สุด ระหว่างตั้งท้องซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงหลังคลอดลูกด้วย

ความสำคัญของการฝากครรภ์

  • ดูแลรักษาสุขภาพของแม่ และทารกในครรภ์ ให้ราบรื่นตลอดการตั้งครรภ์ และการคลอด
  • คลอดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
  • ลดอัตราการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนของแม่และเด็ก
  • วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนได้ทันท่วงที

การดูแลหญิงตั้งครรภ์ ขั้นพื้นฐานตลอดการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย

  1. การสอบถามประวัติ
  2. การตรวจร่างกายและตรวจครรภ์
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  4. การประเมินเพื่อการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรค ตรวจคัดกรอง และรักษา

การนับอายุครรภ์

  • นับจากวันแรก ของประจำเดือนรอบสุดท้าย
  • คำนวณอายุครรภ์ จากการอัลตราซาวด์

การตรวจที่สำคัญใน ไตรมาสที่ 1

  • การสอบถามข้อมูลทั่วไป เพื่อประเมิน และเช็คประวัติคุณแม่/คุณพ่อ โดยละเอียด
  • ประวัติส่วนตัว/ครอบครัว
  • ประวัติการเจ็บป่วย
  • ประวัติทางสูติกรรม

การตรวจร่างกายและตรวจครรภ์

  • ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
  • วัดความดันโลหิต
  • ตรวจร่างกายทั่วไป
  • ตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) เพื่อประเมินอายุครรภ์โดยแพทย์
  • ให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์ ข้อควรระวังต่าง ๆ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ
  • เจาะเลือดตรวจ Lab I หญิงตั้งครรภ์ ค้นหาโรคหรือความเสี่ยงแฝง
  • CBC for Hct/Hb MCV, DCIP, VDRL , Anti-HIV, HBsAg, Blood group ABO, Rh
  • เจาะเลือดสามี เพื่อคัดกรองธาลัสซีเมีย, ซิฟิลิสและโรคเอดส์
  • CBC, MCV, DCIP, VDRL, Anti-HIV
  • ตรวจปัสสาวะ หา protein sugar และ bacteria

สำหรับการตรวจในไตรมาสที่ 1

  • เพื่อการประเมินคุณแม่ และลูกน้อย เพื่อวางแผนการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น
  • ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (ขึ้นอยู่กับประวัติการได้รับวัคซีนในอดีต)
  • ให้ยาเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และแคลเซียม รวมถึงวิตามินในรายที่จำป็น
  • ประเมินสุขภาพจิต ให้คุณแม่ไม่เครียด สบายใจตลอดการตั้งครรภ์
  • ประเมินการสูบบุหรี่ ทั้งของหญิงตั้งครรภ์และสามีหรือคนในครอบครัว
  • บันทึกข้อมูลการฝากครรภ์และผลการตรวจ ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก และเวชระเบียน ซึ่งมีความสำคัญมากจนถึงครบกำหนดการคลอด

การตรวจที่สำคัญใน ไตรมาสที่ 2

ช่วงอายุครรภ์ 14 -18 สัปดาห์ ให้คำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ต่าง ๆ

การตรวจคัดกรอง

  • อัลตราซาวด์
  • เจาะวัด ระดับสารเคมีในเลือดมารดา
  • เจาะเลือดมารดาเพื่อวิเคราะห์จากสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของทารก (Fetal cell-free DNA)

การตรวจวินิจฉัย

  • การเจาะเนื้อรก
  • การเจาะน้ำคร่ำ
  • การเจาะเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์

**อายุครรภ์ 24 -28 สัปดาห์ ตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ ทุกราย (50 g. Glucose challenge test) หากเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้คัดกรองตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรก เพื่อป้องกันโรคเบาหวานที่อาจจะส่งผลกับทารกในครรภ์

วัคซีนที่จำเป็น โดยแพทย์จะประเมินโดยละเอียด

  • บาดทะยัก
  • ไข้หวัดใหญ่
  • โรคไอกรน (วัคซีนเสริม)
  • วัคซีน COVID-19 : ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

การตรวจที่สำคัญใน ไตรมาสที่ 3

  • เจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ ( LAB II ) ได้แก่ Hb/Hct, VDRL, Anti HIV
  • การให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์ และคุณพ่อในการช่วยระมัดระวังคุณแม่ ก่อนถึงกำหนดคลอด เพื่อการช่วยกันดูแลตัวเอง และประเมินอาการสำคัญต่าง ๆ
  • การสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ พร้อมทั้งสอนให้นับจำนวนครั้งของการดิ้นของทารก
  • การสังเกตอาการสำคัญ ที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อการคลอด เช่น เจ็บครรภ์คลอด มีน้ำเดิน มีมูกเลือด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ต้องมาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ทารกดิ้นน้อยลง ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เจ็บจุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา มีไข้ เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เลือดออก น้ำเดิน
  • ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลเต้านม ประโยชน์นมแม่
  • วางแผนการคุมกำเนิด หลังคลอด เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
  • วางแผนการคลอด, ตรวจภายในประเมินเชิงกราน, อัลตราซาวด์ดูท่า น้ำหนักทารกในครรภ์โดยละเอียด เพื่อประเมินการเตรียมคลอดให้ปลอดภัย

คุณแม่จะเห็นได้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ในทุกไตรมาส จะมีการตรวจที่สำคัญในทุกช่วง ดังนั้นการตรวจเพื่อติดตามตลอดการตั้งครรภ์ จึงมีความจำเป็น ที่สำคัญที่สุดของเตรียมตัว “ฝากครรภ์คุณภาพ” นั้น ประโยชน์ที่ได้รับจะเกิดกับลูกน้อย ในเรื่องของการตรวจดูพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพทั้งกาย และสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง เมื่อทารกคลอดออกมา “การฝากครรภ์คุณภาพ” จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่คุณแม่ทุกท่านควรตระหนัก และไม่ควรละเลย

 

บทความโดย นายแพทย์นพเมศฐ์ ศรีจารุสิทธิ์

สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up