เงินฝากปลอดภาษี วิธีให้เงินทำงานเมื่อต้องหยุดกักตัว - Amarin Baby & Kids
เงินฝากปลอดภาษี

เงินฝากปลอดภาษี วิธีให้เงินทำงานเมื่อต้องหยุดกักตัว

Alternative Textaccount_circle
event
เงินฝากปลอดภาษี
เงินฝากปลอดภาษี

ไม่ต้องกลุ้มใจว่าเงินทองจะไม่งอกเงยในช่วงกักตัวหยุดเชื้อโควิด19 แม่นักลงทุนทั้งหลายลองดู เงินฝากปลอดภาษี ดอกเบี้ยสูงมาใช้ให้เงินทำงานแทนระหว่างหยุดกันดีไหม

เงินฝากปลอดภาษี วิธีให้เงินทำงานเมื่อต้องหยุดกักตัว(COVID-19)

ใคร ๆ ก็อยากให้เงินที่มีอยู่งอกเงย เบ่งบานกันทั้งนั้น ใช่ไหม ครั้นจะให้เงินเก็บ เงินออมที่แม่ ๆ ทั้งหลายเฝ้าเก็บสะสมไว้ให้เจ้าตัวน้อยของเราในยามเติบโตนั้น นอนนิ่งอยู่เฉย ๆ ก็คงดูจะไร้ประโยชน์ไปเสียหน่อย แต่ครั้นจะเลือกฝากเงินไว้กับการฝากธนาคารเพื่อรอรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในปัจจุบันนั้นก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเสียด้วย แล้วมีทางเลือกอื่นไหมกับการวางหลักประกัน เก็บออมเงินเพื่อลูก เพื่อหลานไว้ใช้ในอนาคต หรือแม้แต่ตัวแม่เองที่ต้องการเก็บเงินไว้ในยามแก่เฒ่า วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK มีทางเลือกที่จะให้เงินทำงานแทนเรา พร้อมงอกเงยแบบปลอดภาษี ด้วยการลงทุนใน เงินฝากปลอดภาษี ดอกเบี้ยสูงกัน

ลงทุน เงินฝากปลอดภาษี หลักประกันให้ลูกในอนาคต
ลงทุน เงินฝากปลอดภาษี หลักประกันให้ลูกในอนาคต

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีด้วยเหรอ?

ปกติการฝากเงินในธนาคาร เป็นการฝากเงินที่มีความปลอดภัยสูง แถมเรายังหวังดอกเบี้ยจากการฝากเงินนั้น มาทำให้เงินของเรางอกเงยเพิ่มขึ้นมา สิ่งที่ควรรู้ไว้จากการหวังดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารนั่นคือ ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแบบไหนไม่เสียภาษี

  1. ดอกเบี้ยเผื่อเรียกของธนาคารออมสิน
  2. ดอกเบี้ยออมทรัพย์ของธกส.
  3. ดอกเบี้ยออมทรัพย์ของสหกรณ์

กรณีดอกเบี้ย 3 แบบข้างต้น ไม่มีภาระภาษีไม่ว่าจะได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม แต่สำหรับบัญชีเงินฝากแบบอื่น ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เล็งไว้ในการฝากเป็นเงินเพื่อลูก ๆ ของเรานั้น ควรต้องศึกษาให้ดีเกี่ยวกับผลตอบแทน และภาษีที่ต้องชำระไว้ให้ดีด้วย

บัญชีเงินฝากแบบไหนที่มีภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก?

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์

บัญชีเงินฝากในรูปแบบนี้จะต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่อ บุคคลนั้นได้รับดอกเบี้ยรวมกันแล้วเกิน 20,000 บาท จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นหน้าที่ของผู้ได้รับดอกเบี้ยจำนวนตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นผู้นำส่งรายได้จากดอกเบี้ยส่วนนี้ให้แก่สรรพากร แต่ในปัจจุบันมีประกาศกรมสรรพากรก่อนหน้านี้ที่ระบุให้ ผู้มีเงินฝากที่ต้องการได้รับสิทธิยกเว้น “ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์” ต้องแจ้งความยินยอมให้ธนาคารเจ้าของบัญชีทุกธนาคารที่เปิดบัญชีอยู่ เพื่อให้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กรมสรรพากร  ซึ่งหากไม่มีการแสดงความยินยอม ไม่ว่าจะเงินฝากมากหรือน้อย ก็จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แม้จะได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม จึงเกิดเป็นคำถามว่าเราผู้มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นต้องทำตัวอย่างไร

บัญชีเงินฝากปลอดภาษี ทางเลือกการออมให้ลูกน้อย
บัญชีเงินฝากปลอดภาษี ทางเลือกการออมให้ลูกน้อย

1. ถ้าหากยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร กรณีนี้ถ้าดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท เราอยู่เฉยๆไม่ไปทำอะไร นั่นคือยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร และธนาคารจะไม่หักภาษีเราไว้สักบาท ดังนั้นถ้าไม่ลำบากใจในการส่งข้อมูลและดอกเบี้ยเราไม่เกิน 20,000 บาทแน่ๆ ก็อยู่เฉยๆ ชิวๆ ไป

2. ถ้าหากไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร เราต้องถูกธนาคารหักภาษีไว้ 15% ของดอกเบี้ยที่ได้ทันที ไม่ว่าจะได้ดอกเบี้ยเท่าไรก็ตาม ต่อให้ได้ไม่เกิน 20,000 บาทก็ต้องโดนหักภาษีไว้ด้วยนะจ๊ะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก aommoney.com

บัญชีเงินฝากประจำ

การฝากประจำคือการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง โดยมีสัญญาว่าผู้ฝากจะฝากเงินจำนวนนี้ไว้โดยไม่ถอนเลยในช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ โดยส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่นิยม ได้แก่ ประจำทุก 3 เดือน 6 เดือน 12 และ 24 เดือน หรือมากกว่านั้นก็ตามแต่เงื่อนไขที่ธนาคารนั้น ๆ กำหนด โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่ตกลงกันไว้ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากออมทรัพย์ โดยอาจมีการจ่ายทุก 6 เดือน 12 เดือน ตามข้อตกลง ยิ่งฝากเป็นระยะเวลานานอัตราดอกเบี้ยยิ่งสูง เพราะธนาคารสามารถนำเงินก้อนนี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า แต่ถ้าผู้ฝากถอนเงินก่อนครบสัญญาที่ตกลงกันไว้ นับว่าผิดเงื่อนไข ธนาคารมีสิทธิ์จะไม่ให้ดอกเบี้ย หรือให้ดอกเบี้ยในอัตราที่เท่ากับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ก็ได้ แล้วแต่เงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้ และการฝากประจำแบบทั่วไป (General Fixed Deposit) นั้นจำเป็นจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ

บัญชีเงินฝากประจำมีกี่แบบอะไรบ้าง

บัญชีเงินฝากประจำสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

1.บัญชีเงินฝากประจำแบบทั่วไป (General Fixed Deposit)

คือการฝากเงินก้อนไปในธนาคารเป็นครั้งๆ โดยมีสัญญาว่าจะไม่ถอนเลยในระยะเวลาหนึ่ง บัญชีฝากประจำแบบทั่วไปจะฝากกี่ครั้งก็ได้ ครั้งละเท่าไหร่ก็ได้ โดยต้องฝากเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ และเงินแต่ละก้อนจะนับช่วงเวลาแยกกัน  เช่น

  • ฝากเงินครั้งแรกเดือนมกราคม 200,000 บาท
  • ฝากเงินครั้งที่สอง เดือนมีนาคม 500,000 บาท

สมมติเป็นบัญชีที่จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือนวิธีนับอายุเงินฝากและดอกเบี้ยกรณีที่ไม่ถอนก่อนครบสัญญาคือ

เงินฝากครั้งแรกจะได้ดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน โดยคิดดอกเบี้ยจากเงิน 200,000 บาท และจะได้ดอกเบี้ยจากการฝากครั้งที่สองในเดือนกันยายน โดยคิดดอกเบี้ยจากเงิน 500,000 บาท

และบัญชีเงินฝากประจำประเภทนี้มีการหักภาษีจากดอกเบี้ย 15% ซึ่งหนึ่งคนสามารถเปิดได้หลายบัญชี

เปรียบเทียบหาผลตอบแทนทีดีทีสุด
เปรียบเทียบหาผลตอบแทนทีดีทีสุด

2. บัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี (Tax Free Monthly Deposit)

เป็นการฝากประจำที่สัญญาว่าจะฝากเงินจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือนในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ถอน และไม่ผิดสัญญา คือไม่มีการเว้นเดือนหรือไม่นำเงินเข้าบัญชีตามกำหนดเวลา โดยมักเริ่มต้นที่ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทซึ่งบัญชีประเภทนี้เป็นบัญชีประเภท 1 คน 1 บัญชี และเป็นบัญชีได้รับการยกเว้นภาษี

ข้อมูลอ้างอิงจาก peerpower.co.th

จากข้อมูลประเภทของบัญชีเงินฝาก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจง่ายขึ้นกันแล้วใช่ไหมว่า ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว บนความไม่แน่นอนจากพิษการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้การลงทุนในด้านต่าง ๆ ชะงักงัน การนำเงินไปพักไว้ หรือฝากไว้กับธนาคารก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดูมั่นคง ปลอดภัย ซึ่งเราควรจะเลือกการฝากแบบบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี เพราะนอกจากจะให้ผลตอบแทนที่สูงแล้ว ยังไม่มีภาระภาษีมาให้ต้องกังวลใจ แต่เนื่องจากว่าบัญชีประเภทนี้เปิดได้แค่ 1 คน ต่อ 1 บัญชีเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกฝากกับธนาคารที่เข้ากับเรามากที่สุด เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น 

คำแนะนำที่ว่าอยากให้คุณพ่อคุณแม่เลือกฝากประจำกับธนาคารที่เข้ากับเรามากที่สุด แทนที่จะเป็นธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุดนั้น เนื่องจากว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้ถึงข้อสำคัญ 3 ประการก่อนการเลือกฝากเงินกับบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี คือ

  1. หนึ่งคนต่อหนึ่งบัญชี ไม่ใช่ต่อหนึ่งธนาคาร เช่น ถ้าเราเปิดบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีกับ ธนาคาร A แล้ว ต้องรอครบกำหนดตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ก่อน ถึงจะสามารถเปิดบัญชีแบบเดียวกันนี้กับธนาคารอื่นได้
  2. เงินที่ต้องการลงทุนในบัญชีเงินฝากปลอกภาษีนี้ แนะนำว่าควรเป็นเงินที่ต้องการเก็บสะสมไว้ให้อนาคตจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเงื่อนไขในการฝากแบบระยะยาว และสม่ำเสมอ เราจึงต้องแน่ใจก่อนว่าเป็นเงินเย็นที่สามารถนำมาเก็บไว้ รอได้รับผลจากดอกเบี้ยจริง ๆ
  3. ดอกเบี้ยที่สูง มาพร้อมกับเงื่อนไข ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอ่านเงื่อนไขให้ละเอียด และเลือกธนาคารที่เราสามารถเดินทางไปสะดวก หรือมีวิธีฝากเงินที่สะดวกเหมาะกับตัวเราจริง ๆ เพราะหากผิดเงื่อนไขแล้ว นอกจากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยดั่งที่ตั้งใจไว้ อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการเดินทางไปที่เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อฝากเงินเป็นประจำ ทำให้ไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่ได้รับก็เป็นได้

แอบส่องดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีของแต่ละธนาคาร (ข้อมูลปี 2563)

ตารางเปรียบเทียบบัญชี เงินฝากปลอดภาษี ของธนาคารต่าง ๆ
ตารางเปรียบเทียบบัญชี เงินฝากปลอดภาษี ของธนาคารต่าง ๆ
ข้อมูลอ้างอิงจาก sanook/ sale_here/ canva

ตัวอย่างรายละเอียดเปรียบเทียบดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ได้นำมาให้ดูกันนั้น จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายสถาบันการเงินที่รองรับ มีความน่าเชื่อถือของแต่ละสถาบัน พร้อมทั้งดอกเบี้ยสูงที่ไว้ใช้จูงใจในแต่ละธนาคารแตกต่างกันไป แต่ทุก ๆ แบบก็มาพร้อมเงื่อนไข หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดต่อกับทางสถาบันการเงินนั้น  ๆ ได้เลย หรือสามารถศึกษารายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์ของทางธนาคารก็สะดวกเช่นกัน

แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น จะทำให้วิถีชีวิตประจำวัน รวมถึงแผนชีวิตของแต่ละคนอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หากเราตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ศึกษาวิธีการหารายได้ หาเงินในช่องทางรูปแบบที่พอจะเป็นไปได้ เช่น การให้เงินทำงานในรูปแบบดอกเบี้ยนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ในช่วงเวลาเปราะบางนี้ ความไม่ประมาท รู้จักวางแผนจะนำพาให้ทั้งชีวิตของทุกคนทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย และสุขภาพทางการเงินปลอดภัย สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ร่วมกัน ขอเป็นกำลังใจให้แก่คุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ ท่าน

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ชี้เป้า 4 วิธีประหยัดเงิน เพื่อแม่ถูกและดี มีเงินออมให้ลูก!!

วิธีเก็บเงิน แบบคนรวย เคล็ดลับ 15 ข้อที่ควรสอนลูก

วิธีเก็บเงิน ให้ล้นกระเป๋าสตางค์แบบฉบับคนญี่ปุ่น!!

เรื่องจริงจากหมอ “ทำคลอดแม่ติดโควิด” อันตรายสุด เตือนแม่ อย่าเสี่ยง อย่าปิดข้อมูล

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up