5 นิทานพื้นบ้าน ซึมซับความเป็นไทย พร้อมคติสอนใจ!! - Amarin Baby & Kids
นิทานพื้นบ้าน

5 นิทานพื้นบ้าน ซึมซับความเป็นไทย พร้อมคติสอนใจ!!

Alternative Textaccount_circle
event
นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านไทย เข้าใจวิถีชีวิตแบบไทยในอดีต เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน พร้อมข้อคิด คติสอนใจดี ๆ นิทานพื้นบ้านไทยสนุกไม่แพ้นิทานต่างชาติ

5 นิทานพื้นบ้าน ซึมซับความเป็นไทย พร้อมคติสอนใจ!!

นิทานพื้นบ้าน คุณพ่อคุณแม่นำมาเล่าให้ลูกฟัง เพื่อซึมซับถึงความเป็นไทย เข้าใจในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิด วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่สอดแทรกอยู่ในนิทานพื้นบ้านไทย ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมนิทานสนุก ๆ มาฝากแล้วค่ะ

นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าที่เล่าต่อๆ กันมา จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้แต่ง เช่น เราไม่สามารถบอกได้ว่า ใครแต่งนิทานเรื่องสังข์ทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม ไกรทอง นางสิบสอง เพราะนิทานเหล่านี้ ถ่ายทอดโดยการเล่าจากความทรงจำต่อๆ กันมา เช่น ปู่ย่าตายายเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่เล่าให้ลูกหลานฟัง หรือมีการแพร่กระจายจากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง นิทานเรื่องเดียวกัน เช่น นิทานเรื่องสังข์ทอง จึงอาจมีหลายสำนวนได้

นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้าน

5 นิทานพื้นบ้าน ซึมซับความเป็นไทย พร้อมคติสอนใจ!!

โสนน้อยเรือนงาม

ที่”นครโรมวิสัย” มีกษัตริย์ครองอยู่ มีพระราชธิดาที่สวยงามมาก พระราชธิดานี้เมื่อประสูติมีเรื่อนไม้เล็กๆ ติดมือออกมาด้วย เรือนนี้เมื่อพระธิดาเจริญวัยขึ้น เรือนไม้นี้ก็โตขึ้นด้วยและกลายเป็นของเล่นของพระราชธิดา พระบิดาจึงตั้งชื่อพระราชธิดาว่า “โสนน้อยเรือนงาม” เมื่อโสนน้อยเรือนงามมีพระชนม์พรรษาได้สิบห้าพรรษา โหรทูลพระบิดาว่าโสนน้อยเรือนงามกำลังมีเคราะห์ ควรให้ออกไปจากเมืองเสีย เพราะจะต้องอภิเษกกับคนที่ตายแล้ว พระบิดาและพระมารดาก็จำใจให้โสนน้อยเรือนงามออกไปจากเมืองแต่ผู้เดียว โสนน้อยเรือนงามปลอมตัวเป็นชาวบ้านและเอาเครี่องทรงพระราชธิดาห่อไว้ พระอินทร์สงสารนางจึงแปลงร่างเป็นชีปะขาวมามอบยาวิเศษสำหรับรักษาคนตายให้ฟื้นได้ โสนน้อยเรือนงามเดินทางเข้าไปในป่าพบ “นางกุลา” หญิงใจร้ายนอนตายเพราะถูกงูกัด โสนน้อยเรือนงามจึงนำยาของชีปะขาวมารักษา นางกุลาก็ฟื้น นางจึงขอเป็นทาสติดตามโสนน้อยเรือนงาม

ที่ “นครนพรัตน์” เมืองใกล้เคียงโรมวิสัย มีกษัตริย์ครองอยู่มีพระราชโอรสนามว่า “พระวิจิตรจินดา” ซึ่งเป็นชายหนุมรูปงามและมีความสามารถ แต่วันหนึ่งพระวิจิตรจินดาถูกงูพิษกัดสิ้นพระชนม์ พระบิดาและพระมารดาเศร้าโศรกเสียใจมาก แต่โหรทูลว่า พระวิจิตรจินดาจะสิ้นพระชนม์ไปเจ็ดปีแล้วจะมีพระราชธิดาของเมื่องอื่นมารักษาได้ พระบิดาและพระมารดาจึงเก็บพระศพของพระวิจิตรจินดาไว้ และมีประกาศให้คนมารักษาให้ฟื้น

โสนน้อยเรือนงามและนางกุลาเดินทางมาถึงเมืองนพรัตน์ได้ทราบจากประกาศ จึงเข้าไปในวังและอาสาทำการรักษา โดยขอให้กั้นม่านเจ็ดชั้น ไม่ให้ใครเห็นเวลารักษา โสนน้อยเรือนงามแต่งเครื่องทรงพระราชธิดาทำการรักษา โดยนางกุลาติดตามเฝ้าดู เมื่อโสนน้อยเรือนงามทายาให้พระวิจิตรจินดา พิษของนาคราชเป็นไอร้อนออกมาทำให้นางรู้สึกร้อนมาก จึงถอดเครื่องทรงพระราชธิดาออกแล้วเสด็จไปสรงน้ำ ระหว่างนั้นนางกุลาก็นำเครื่องทรงพระราชธิดาของโสนน้อยเรือนงามมาแต่ง พอดีพระวิจิตรจินดาฟื้น ทุกคนก็คิดว่านางกุลาเป็นพระราชธิดาที่รักษาจึงเตรียมจะให้อภิเษก ส่วนโสนน้อยเรือนงามต้องกลายเป็นข้าทาสของนางกุลาไป

พระวิจิตรจินดาและพระบิดาและพระมารดาก็ยังมีความสงสัยในนางกุลา จึงให้นางเย็บกระทงใบตองถวาย นางกุลาทำไม่ได้โยนใบตองทิ้งไป โสนน้อยเรือนงามเก็บใบตองมาเย็บเป็นกระทงสวยงาม นางกุลาก็แย้งไปถวายพระราชบิดามารดาของพระวิจิตรจินดา พระวิจิตรจินดาไม่อยากอภิเษกกับนางกุลาจึงขอลาพระบิดาพระมารดาไปเที่ยวทางทะเล พระบิดาพระมารดาให้นางกุลาย้อมผ้าผูกเรือ นางกุลาก็ทำไม่เป็น โยนผ้าและสีทิ้ง โสนน้อยเรือนงามเก็บผ้าและสีไปย้อมได้สีงดงาม นางกุลาก็แย้งนำไปถวายพระบิดาพระมารดาอีก …เมื่อพระวิจิตรจินดาจะออกเรือก็ปรากฎว่าเรือไม่เคลื่อนที่ พระวิจิตรจินดาทรงคิดว่าคงมีผู้มีบุญในวังต้องการฝากซื้อของ เรือจึงไม่เคลื่อนที่ จึงให้ทหารมาถามรายการของที่คนในวังจะฝากซื้อ ทุกคนก็ได้มีโอกาสฝากซื้อ แต่โสนน้อยเรือนงามอยู่ใต้ถุนถึงไม่มีใครไปถาม เรือก็ยังไม่เคลื่อนที่ พระวิจิตรจินดาจึงให้ทหารกลับไปค้นหาคนในวังที่ยังไม่ได้ฝากซื้อของ ทหารจึงได้ไปค้นหานางโสนน้อยเรือนงามได้ นางจึงฝากซื้อ”โสนน้อยเรือนงาม”

เมื่อพระวิจิตรจินดาเดินทางไป ลมก็บันดาลให้พัดไปยังเมืองโรมวิสัยของพระบิดาของโสนน้อยเรือนงาม พระวิจิตรจินดาซื้อของฝากได้จนครบทุกคน …ยกเว้นโสนน้อยเรื่อนงาม …พระวิจิตรจินดาจึงสอบถามจากชาวเมือง ชาวเมืองบอกว่าโสนน้อยเรือนงามมีอยู่แต่ในวังเท่านั้น พระวิจิตรจินดาจึงเข้าไปในวังและทูลขอซื้อโสนน้อยเรือนงามไปให้นางข้าทาส พระบิดาของโสนน้อยเรือนงามทรงถามถึงรูปร่างหน้าตาของนางทาส ก็ทรงทราบว่าเป็นพระธิดา จึงมอบโสนน้อนเรือนงามให้พระวิจิตรจินดาและให้ทหารตามมาสองคน

เมื่อพระวิจิตรจินดากลับถึงบ้านเมือง ทหารสองคนก็ไปทำความเคารพนางโสนน้อยเรือนงาม และเรือนวิเศษก็ขยายเป็นเรือนใหญ่มีข้าวของเครื่องใช้พระธิดาครบถ้วน โสนน้อยเรือนงามก็เข้าไปอยู่ในเรือนนั้น พระวิจิตรจินดาจึงแน่ใจว่าโสนน้อยเรือนงามเป็นพระราชธิดาที่รักษาตน จึงจะฆ่านางกุลาแต่โสนน้อยเรือนงามขอชีวิตไว้ พระวิจิตรจินดาก็ได้อภิเษกกับนางโสนน้อยเรือนงามและอยู่ด้วยกันมีความสุขสืบไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

  1. ไม่ควรมุ่งหวังในสิ่งที่เกินตัว
  2. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
นิทานพื้นบ้านไทย
นิทานพื้นบ้านไทย

5 นิทานพื้นบ้าน ซึมซับความเป็นไทย พร้อมคติสอนใจ!!

ลูกกตัญญู

มีพี่น้องสองคน…คนพี่มีภรรยาเป็นลูกสาวเศรษฐี…คนน้องมีภรรยาเป็นลูกสาวคนจน
อยู่มาวันหนึ่งพ่อเดินทางมาหาลูกคนโต ถามว่า”ไอ้ทิดอยู่ไหน” ลูกคนโตอายภรรยาที่มีพ่อจน จึงทำเป็นไม่รู้จักพ่อ … พ่อจึงไปหาลูกคนเล็กบอกว่า”หิวข้าว” ถึงแม้ลูกคนนี้จน มีข้าวเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็นำมาให้พ่อกิน ต่อมาพ่อบอกว่า “พ่อจะตายอยู่แล้ว ให้หามไปป่าช้า ถ้ามีสัตว์อะไรมาเกาะฝาโลง ก็ให้จับสัตว์นั้น

ต่อมาเมื่อพ่อตาย…ก็ปรากฏว่ามีนกเขาไปเกาะที่ฝาโลง แต่พอจะจับ มันก็บินมาเกาะไหล่…พอนกร้องทีหนึ่ง เงินก็ร่วงออกมา น้องก็เอานกไปเลี้ยงไว้จนร่ำรวย ส่วนพี่นั้นยากจนลง เห็นว่า น้องร่ำรวย จึงมาขอยืมนกไปเลี้ยงบ้าง แต่พอนกร้อง จั่วบ้านก็พังลงมา และต่อมาหลังคาพังลงมา พี่โมโหจึงฆ่านกตาย

เมื่อน้องทราบข่าว…ก็ตามไปเก็บกระดูกแล้วเอากระดูกมาทำหวี…เมื่อหวีผม ผมก็ร่วงเป็นทอง พี่จึงมาขอยืมหวี แต่หวีแล้วผมร่วงหมด พี่ก็โมโหเอาหวีไปทิ้ง

เมื่อน้องทราบข่าว…ก็ตามไปขุดเอามาได้…ก็เอามาทำเป็นไม้แคะฟัน พี่มาขอยืมอีก แต่แคะไปแคะมาฟันหลุดหมด นี่แหละคนที่ไม่สำนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ บ้านก็ไม่มีอยู่ หัวก็ล้าน ฟันก็หัก

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ใครไม่คิดถึงบุญคุณของพ่อแม่… บ้านก็จะพัง หัวก็จะล้าน… ฟันก็จะหักเช่นลูกชายคนโตนี้แล”

หัวล้านนอกครู

ทิดทอง และ ทิดถม เป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองได้บวชเรียน ร่ำเรียนตำรับตำรามาด้วยกัน ถึงแม้ว่าฐานะของทั้งสองต่างกัน แต่ทั้งสองก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์กันเลย เมื่อทั้งสองสึกออกมา ก็ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่ง มีพ่อค้าเร่มาขายน้ำมันใส่ผมในหมู่บ้าน ทิดทองกับทิดถมซึ่งไม่รู้เรื่องอะไร จึงได้ซื้อน้ำมันใส่ผมมาใช้คนละขวด ต่อมาไม่นานผมของทั้งสองก็ร่วงเรื่อยๆทุกวัน นานวันเข้าทั้งสองก็กลายเป็นคนหัวล้าน

ทั้งสองรู้สึกเป็นกังวลกินก็ไม่ได้นอนก็ไม่หลับ และรู้สึกอับอายจนไม่อยากจะออกไปไหนเลย เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องข่าวก็ทำทีมาแกล้ง โดยแนะนำกับทั้งสองว่าถ้าเอาไอ้โน้น ไอ้นี่มาทา ผมก็จะงอกมาดังเดิม เช่น บอกให้เอา หนวดเต่า เขากระต่าย น้ำลายยุง หรือแม้กระทั่งขี้ไก่ มาทา ทั้งสองก็หลงเชื่อ กลายเป็นที่ขำขันของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ทั้งสองอับอายเป็นอันมาก จึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากโยคีที่อยู่กลางป่า ด้วยความสงสารโยคีจึงให้การช่วยเหลือ โดยให้ทั้งสองไปดำน้ำในสระน้ำข้างอาศรม 3 ครั้ง ผมก็จะงอกออกมาทั่วทั้งหัวเหมือนดังเดิม

ทั้งสองไม่รอช้า รีบทำตามคำแนะนำของท่านโยคี เมื่อลงดำครั้งแรกแล้วโผล่หัวขึ้นมาปรากฏว่าผมงอกขึ้นมานิดหน่อย ครั้งที่ 2 ผมงอกมาพอประมาณและครั้งที่ 3 ผมของทั้งสองงอกเต็มหัวเป็นปกติ แต่เนื่องจากทั้งสองมีแผลเป็นกลางหัวตั้งแต่เด็กๆ ผมจึงขึ้นตรงแผลเป็นไม่ได้…แทนที่จะไปปรึกษากับโยคี…ทิดทองและทิดถมได้ปรึกษากันเองว่าหากดำครั้งที่ 4 ผมจะต้องงอกตรงที่เป็นแผลเป็นแน่นอน…ทั้งสองจึงตัดสินใจดำน้ำลงไปอีกครั้ง…แต่ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น…เมื่อทั้งสองโผล่หัวขึ้นมากลับกลายเป็นคนหัวล้านเช่นเดิม…คราวนี้แม้แต่โยคีเองก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว…ทั้งสองเสียใจร้องไห้โวยวาย แล้วเดินก้มหน้ากลับหมู่บ้านด้วยความผิดหวัง…เป็นที่มาของสำนวนไทยที่ว่า ” หัวล้านนอกครู ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. อย่าเพิ่มเติมหรือนอกคำสั่ง ผลลัพธ์จะตกแก่ตัวเอง…และอย่าเชื่อคนง่ายจะเสียใจภายหลัง เช่นการซื้อน้ำมันมาใส่ผมบ้าง เอาขี้ไก่มาทาบ้างเป็นคนที่เชื่อแบบไม่มีเหตุผล
2. สำนวนสุภาษิต ”หัวล้านนอกครู” หมายถึง…ผู้ที่ปฏิบัติผิดแผกไปจากคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์หรือแบบแผนที่นิยมกันมา…หรือไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำของครูอาจารย์จนทำให้เกิดความเดือดร้อน

ทำคุณบูชาโทษโปรดสัตว์ได้บาป

ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่งเลี้ยงแพะไว้ตัวหนึ่ง ต่อมาเศรษฐีผู้นั้นได้ลูกหมาน่ารักมาอีกตัวหนึ่งเพื่อจะเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน

อยู่มาวันหนึ่งหมากินข้าวไม่อิ่ม หมาจึงพูดกับแพะว่า “คืนนี้เราจะไม่เห่า เพราะเรากินข้าวไม่อิ่ม” แพะบอกว่า “ไม่อิ่มวันนี้ก็ค่อยกินวันพรุ่งนี้อีกก็ได้ หน้าที่ของเจ้าก็ต้องเห่า” แต่หมากลับเถียงว่า “จะไม่ยอมเห่า” ต่างก็ถกเถียงกันอย่างไม่ลดละ …จนแพะเห็นว่าไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมหมาได้แน่นอนแล้วจึงรีบพูดขึ้นว่า “เอ็งไม่เห่าข้าจะเห่าเอง

พอตกดึกในคืนนั้นก็มีโจรผู้ร้ายเข้ามาในเขตรั้วบ้าน หวังจะเข้ามาขโมยทรัพย์สิน แพะเห็นเข้าก็ส่งเสียงร้อง “แบ๊ะ แบ๊ะ” ฝ่ายหมานอนดูเฉยไม่ยอมเห่า โจรได้ยินแพะร้องก็ถอยออกไป สักครู่หนึ่งโจรก็กลับเข้ามาอีก แพะก็ร้อง “แบ๊ะ แบ๊ะ” อีกเช่นเดิม โจรก็ถอยออกไปอีกครั้งหนึ่ง

เศรษฐีได้ยินเสียงแพะร้องก็ลงมาดู เมื่อไม่เห็นอะไรผิดสังเกตก็กลับขึ้นบนบ้านไปนอน ขณะที่กำลังจะหลับโจรก็เข้ามาอีก แพะเห็นดังนั้นก็ส่งเสียงร้องขึ้นอีก

ฝ่ายเศรษฐีก็ตกใจและตื่นขึ้นมาดูอีกแต่ปรากฏว่าไม่พบอะไรเลยเหมือนในครั้งแรก เป็นอยู่อย่างนี้หลายครั้ง …จนกระทั่งครั้งสุดท้าย …ด้วยความโมโหเศรษฐีก็ลงมาเอาไม้ทุบแพะจนตาย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เป็นนิทานของชาวบ้านที่เล่าสืบต่อๆ กันมา มีคุณค่าในการอบรมสั่งสอนให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะในเรื่องทำคุณบูชาโทษ แม้แพะจะเป็นสัตว์แต่ก็สำนึกในบุญคุณเจ้าของบ้านที่ให้ข้าวให้น้ำให้ที่พักพิง ถึงแม้ตัวเองจะเห่าไม่ได้เหมือนสุนัขแต่ก็ส่งเสียงร้องได้เพื่อให้เจ้าของบ้านรู้ตัวว่ากำลังจะมีภัยเข้าบ้าน แต่จากความไม่เข้าใจของผู้เป็นเจ้าของกลับเห็นว่าเสียงร้องของแพะเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ และตีแพะจนตาย จึงกลายเป็นการทำคุณบูชาโทษ ทําดีแต่กลับเป็นร้าย ดังนิทานเรื่องนี้

เศรษฐีกับยาจก

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายสองคนเป็นเพื่อนกัน ชายคนแรกมีชีวิตอยู่เพียงลำพังไม่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้อง แต่เขามีทรัพย์สมบัติ มีฐานะร่ำรวย… แต่ชายคนที่สองมีครอบครัวแต่ฐานะยากจน

อยู่มาวันหนึ่งชายคนแรกบอกกับชายคนที่สองว่า “ถึงเจ้าจะมีภรรยามีลูกแล้ว แต่ข้าก็ไม่เคยนึกอิจฉาเจ้าเลยเพราะว่าเจ้ายากจน ข้าแม้จะอยู่เพียงลำพังแต่ฐานะร่ำรวยกว่าเจ้า” ชายคนที่สองกลับบอกว่า “แม้เจ้าจะมีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่ข้าก็ไม่นึกอิจฉาเจ้าเหมือนกัน เพราะข้ามีภรรยา มีลูก ข้ามีข้าวกิน มีลูกหลานคอยปรนนิบัติดูแลข้าอย่างใกล้ชิด… แต่เจ้าต้องอยู่โดดเดี่ยวและทำงานเองทุกอย่าง ไม่มีคนช่วย” ชายคนแรกก็แย้งอีกว่า “แต่บ้านข้ามีทุกอย่างที่บ้านเจ้าไม่มี

ดังนั้นเมื่อต่างคนต่างก็เห็นว่าตัวเองมีชีวิตที่สุขสบายกว่า ชายคนที่สองจึงออกความเห็นว่าให้เปลี่ยนกันไปกินข้าวบ้านละมื้อ โดยไปกินข้าวที่บ้านของคนแรกก่อน พอไปถึงบ้านของชายคนแรกพบว่าภายในบ้านมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างครบถ้วน แต่เขาไม่มีคนช่วยงานบ้านเลย ต้องทำงานทำอาหารเองทุกอย่าง เขาจึงต้องเหนื่อยเพียงคนเดียว

ต่อมาวันรุ่งขึ้นก็เปลี่ยนไปกิน ข้าวที่บ้านของชายคนที่สองต่อ ชายคนแรกจึงพบว่าชายคนที่สองแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย เขาเพียงแต่นั่งอยู่เฉยๆพูดเคยกับเขาบ้าง พูดกับลูกหลานบ้างอย่างมีความสุข ลูกๆของเขาเป็นคนจัดการทุกอย่าง กวาดบ้าน เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร พอถึงเวลากินข้าว ลูกๆก็เข้ามาอุ้มชายคนที่สองและภรรยาไปกินข้าว พอกินได้สักช่วงชายคนที่สองก็บ่นว่าหนาว อยากไปกินข้าวข้างนอก ลูกๆจึงยกสำรับกับข้าวไปไว้หน้าบ้าน และอุ้มพ่อแม่ไปด้วยต่างคนต่างช่วยกัน โดยไม่เกี่ยงกันแต่พอกินได้สักพักก็บ่นว่าร้อนอีกลูกๆก็ช่วยกันเคลื่อนย้าย เข้าไปในบ้านอีก

… หลังจากกินข้าวเสร็จชายคนที่สองจึงถามชายคนแรกว่า”เจ้ารู้หรือยังว่าใครสุขสบายที่สุด เพราะข้าไม่ต้องทำอะไรเลย…มีคนช่วยเหลือข้าทุกอย่างไม่ว่าข้าจะเคลื่อนไหวไปทางใดข้าเปรียบเสมือน… กษัตริย์ที่มีบริวารให้รับใช้มากมาย… ในขณะที่เจ้ามีเงินทองแต่ไม่มีความสุขเลย เพราะเจ้าต้องเหนื่อยไม่มีบริวารให้รับใช้เหมือนข้า ข้าจึงไม่อิจฉาเจ้าเลย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การอยู่เพียงลำพังไม่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้อง… ทำให้ลำบาก เหนื่อยต้องทำเอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน
แต่ถ้ามีครอบครัวดี…ก็เหมือนกษัตริย์ มีลูกหลานคอนดูแลอย่างใกล้ชิดแทบไม่ต้องทำอะไรเลย
นิทานก่อนนอนของลูกมีหลากหลายเรื่อง ทีมกองบรรณาธิการ ABK เลือกนำ นิทานพื้นบ้าน ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของไทยมาฝากนี้ นอกจากเนื้อเรื่องจะสนุกแล้ว ยังได้คติสอนใจอีกด้วย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

5 นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้านไทย สนุก!! ได้คติสอนใจ!!

10 นิทานสอนใจ!! พร้อมข้อคิดดี ๆ อ่านให้ลูกฟังก่อนนอน

บ้านต้นไม้10ชั้น นิทานที่ใครๆ ก็หลงรัก

วิจัยเผย พ่ออ่านนิทานให้ลูกฟัง ส่งผลดีต่อลูกมากกว่าแม่อ่าน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.saranukromthai.or.th, https://nitanstory.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up