ครรภ์แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร!?
ครรภ์แฝดจากไข่ใบเดียวกัน ไม่มีใครทราบสาเหตุว่าทำไมไข่จึงเกิดการแบ่งตัวขึ้น อุบัติการณ์มีค่าเฉลี่ยคงที่ทั่วโลกคือ ประมาณร้อยละ 0.3-0.5 การเกิดไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ประเทศ วัฒนธรรม อากาศ อุณหภูมิ อายุมารดา ฯลฯ
ครรภ์แฝดจากไข่สองใบ ปัจจัยในการเกิดที่พบบ่อย ได้แก่ เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม, การกระตุ้นไข่ตกหลายใบในคนไข้ที่มีบุตรยากซึ่งทำให้เกิดแฝดมากกว่าธรรมชาติถึง 20 เท่า, อายุมารดาที่มากขึ้นโดยเฉพาะอายุเกิน 35 ปี พบครรภ์แฝดได้มากกว่าอายุน้อยถึง 4 เท่า, มารดามีรูปร่างสูงและอ้วน, ตั้งท้องหลายท้อง ฯลฯ ดังนั้นแต่ละประเทศจะมีแฝดแบบนี้จำนวนไม่เท่ากัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศในยุโรปเกิดมากกว่าประเทศญี่ปุ่น ในเมืองไทยแต่ละจังหวัดก็มีอุบัติการณ์การเกิดไม่เท่ากัน
วิธีสังเกต ว่าท้องนี้แฝดหรือเปล่า?
ครรภ์แฝดนั้นหญิงตั้งครรภ์อาจแสดงอาการที่น่าสงสัย ดังนี้
- แพ้ท้อง อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนมาก ในครรภ์แรก อาการแพ้ท้องเจอมากถึงร้อยละ 90 คุณแม่ท้องอาจจะไม่ทราบว่าอาการแพ้ท้องนั้นมากหรือน้อย แต่คุณแม่ที่เคยท้องมาก่อน จะรู้สึกว่าครรภ์แฝดนั้นแพ้ท้องอ่อนเพลียและอารมณ์แปรปรวนมากกว่าครรภ์ธรรมดา เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนของรกที่เพิ่มสูงขึ้นในครรภ์แฝด
- ท้องโตเร็ว ปกติสามเดือนแรกยังไม่ค่อยเห็นว่าท้องโต แต่ครรภ์แฝดท้องจะโตมาก ตั้งครรภ์สามเดือนท้องอาจโตเท่ากับครรภ์ห้าเดือน
- ลูกดิ้นมาก เนื่องจากในครรภ์มีทารกสองคนหรือมากกว่า ทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นมาก ดิ้นพร้อมกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา หรือทั้งด้านบนและด้านล่าง
แต่อาการเหล่านี้เป็นเพียงความสงสัย การจะวินิจฉัยว่าเป็นแฝดหรือไม่ ชนิดไหน ต้องไปพบแพทย์ ในครรภ์แฝดแพทย์จะตรวจพบว่า ขนาดของครรภ์มากกว่าอายุครรภ์ ฟังหัวใจได้สองที่ และคลำเด็กได้เกินหนึ่งคน การตรวจยืนยันโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งจะสามารถแยกได้ว่าเป็นแฝดหรือไม่ แฝดกี่คน แฝดนั้นเป็นแฝดจากไข่ใบเดียวกัน หรือไข่สองใบ โดยการดูจากถุงน้ำคร่ำและรก ทั้งอาจตรวจพบความพิการ เช่น เป็นแฝดตัวติดกัน และความพิการอื่นๆ
รวมไปถึงการ มีน้ำหนักน้อย เนื่องจากครรภ์แฝดอาจมีการแย่งอาหารกัน พบว่าครรภ์แฝดสองเกินครึ่ง (ร้อยละ 50-60) คลอดด้วยน้ำหนักที่ต่ำกว่า 2,500 กรัม โดยร้อยละ 10 ของครรภ์แฝดสอง คลอดด้วยน้ำหนักที่ต่ำกว่า 1,500 กรัม ยิ่งน้ำหนักน้อยเท่าไร โอกาสทารกจะเจ็บป่วยและไม่แข็งแรงก็มีสูงขึ้นเท่านั้น
อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่สูง
เช่น มีโอกาสแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ มีโอกาสตกเลือดก่อนและหลังคลอด มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ มีโอกาสผ่าท้องคลอดสูง มีโอกาสเกิดมดลูกอักเสบติดเชื้อในช่วงหลังคลอดสูง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของครรภ์แฝด
- ครรภ์แฝดมีโอกาสแท้งสูง ในหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปมีโอกาสแท้งเองตามธรรมชาติ ร้อยละ 10-20 แต่แฝดมีโอกาสแท้งร้อยละ 37 โดยร้อยละ 27 เป็นการแท้งของคู่แฝดหนึ่งคน แล้วฝ่อหายไปโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายอะไร เรียกว่า Vanishing twins อีกร้อยละ 9 เป็นการแท้งของแฝดทั้งคู่
- มีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์และตอนคลอดสูง โดยมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าครรภ์เดี่ยว 5 เท่า (37 : 7 ต่อการคลอดมีชีวิตหนึ่งพันคน)
- คลอดก่อนกำหนดสูง คือคลอดก่อน 37 สัปดาห์ โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ปกติ นานเฉลี่ย 39 สัปดาห์ แต่พอตั้งครรภ์แฝด อายุครรภ์โดยเฉลี่ยจะน้อยลงเรื่อยๆ เช่น ตั้งครรภ์แฝดสอง อายุครรภ์เฉลี่ยนาน 36 สัปดาห์ แฝดสาม 32 สัปดาห์ แฝดสี่ เหลือเพียง 30 สัปดาห์ ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไร ก็ทำให้ทารกไม่แข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น เพราะทุกระบบของทารกยังไม่พร้อมที่จะออกมาดูโลก เช่น ระบบหัวใจ ระบบหายใจ ระบบประสาทสมองฯลฯ ส่งผลให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเจ็บป่วย เจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต หรือมีความพิการทางสมอง
การดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และน้ำหนักตัว ของแม่ตั้งครรภ์แฝด
งานวิจัยพบว่า คุณแม่ครรภ์แฝดที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นดีระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสได้ลูกน้ำหนักตัวมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ในครรภ์แฝดควรเพิ่มอาหารคิดเป็นพลังงานมากกว่าครรภ์เดี่ยว 300 กิโลแคลอรี่ หรือมากกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ 600 กิโลแคลอรี่ อาหารที่ควรรับประทานเพิ่ม ได้แก่ อาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ไข่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลาป่น ถั่ว งา โดยน้ำหนักตัวในครรภ์แฝดควรเพิ่มเดือนละอย่างน้อยเฉลี่ย 2 กิโลกรัม
หากแฝดเสียชีวิตในท้องไป 1 คน จะทำอย่างไร?
การเสียชีวิตของแฝดหนึ่งคนหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ พบได้ร้อยละ 5 ของครรภ์แฝดทั้งหมด ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ในครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกัน เนื่องจากอยู่ในถุงน้ำเดียวกัน การตายของแฝดหนึ่งคนทำให้แฝดที่ยังมีชีวิตเสียเลือด ซีด ความดันโลหิตต่ำ และมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 15 ตรงกันข้ามกับครรภ์แฝดจากไข่สองใบ ซึ่งครรภ์แฝดอยู่คนละถุงน้ำ แม้คนที่รอดชีวิตอาจเกิดอันตรายเสียชีวิตได้จากการเสียเลือด หรือการติดเชื้อ แต่มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าคือร้อยละ 3
ครรภ์แฝดที่มีแฝดคนหนึ่งเสียชีวิต คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สังเกตลูกที่ยังรอดชีวิตว่ามีการเคลื่อนไหวตามปกติหรือไม่ ถ้าดิ้นน้อยหรือดิ้นผิดปกติต้องมาพบแพทย์ ในคุณแม่บางรายต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีทารกเสียชีวิต เช่น ดูแลแฝดคนที่เหลือว่าจะติดเชื้อหรือเสียเลือดหรือไม่ คุณแม่มีไข้ ติดเชื้อ มีภาวะเลือดไหลไม่หยุดหรือไม่ หากจะเกิดอันตรายกับแม่และลูก แพทย์มักจะป้องกันโดยยุติการตั้งครรภ์
ทำคลอดครรภ์แฝดแบบไหนดี!
ครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกัน โอกาสรอดชีวิตของทารกมีประมาณร้อยละ 50-60 เท่านั้น จากการขาดอาหาร เด็กทารกแย่งอาหารกัน มีปัญหาสายสะดือพันกัน หรือมีการถ่ายเลือดให้กัน ฯลฯ ส่วนใหญ่แพทย์มักจะดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ยาเร่งการทำงานของปอดทารก และผ่าตัดคลอดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะผ่าคลอดก่อนกำหนดเพราะหากรอให้ครบกำหนดเกรงทารกจะเสียชีวิตไปก่อน
ครรภ์แฝดจากไข่สองใบ แพทย์บางคนอาจจะผ่าตัดคลอดทุกราย ด้วยเหตุผลที่ว่า แฝดคนที่สองอาจขาดออกซิเจนถ้ารอคลอดเอง แต่งานวิจัยไม่สนับสนุน เพราะพบว่าหากทารกทั้งสองคนเป็นท่าศีรษะซึ่งพบได้ร้อยละ 42 ของแฝดทั้งหมด สามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้ การผ่าตัดคลอดกับการคลอดทางช่องคลอด พบเด็กทารกแข็งแรงไม่แตกต่างกัน
หากทารกคนแรกเป็นท่าอื่นๆที่ไม่ใช่ท่าศีรษะ เช่น เป็นท่าก้น ท่าขวางฯลฯ ซึ่งพบได้ร้อยละ 20 ของแฝดทั้งหมด ควรพิจารณาผ่าตัด และหากทารกคนแรกเป็นท่าศีรษะ ทารกคนที่สองเป็นท่าอื่นๆ เช่น เป็นท่าก้น ท่าขวาง ฯลฯ ซึ่งพบได้ร้อยละ 38 ของแฝดทั้งหมด หากลองคลอดทางช่องคลอดในแฝดคนแรก ต้องทำหัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอดในทารกแฝดคนที่สอง เช่น ทำคลอดท่าก้น หรือหมุนจากท่าขวางให้เป็นท่าก้นแล้วจึงทำคลอด ฯลฯ อาศัยแพทย์ผู้มีประสบการณ์จึงทำคลอดได้ ควรปรึกษาคนคลอดและญาติ ว่าจะเลือกวิธีลองคลอดทางช่องคลอด ให้แพทย์ใช้หัตถการช่วยคลอดแฝดคนที่สอง หรือผ่าตัดคลอดไปเลย ส่วนหากมารดาและทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต เช่น ครรภ์เป็นพิษ เด็กทารกขาดอาหาร น้ำคร่ำแห้ง ฯลฯ อาจพิจารณาผ่าตัดคลอด
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!
- รับมือกับ 10 ความเสี่ยง ตั้งครรภ์แฝด
- อยากได้ลูกแฝดต้องทำอย่างไร?
- 8 วิธีช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่มีเบบี๋ฝาแฝด
บทความโดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids