กระทรวงมหาดไทย ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสมรส-รับรองบุตร เหลือ 1 บาท ถึง 31 ธ.ค. นี้ ใครที่จะแต่งงานต้องดู!! จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง 2564
เตรียมให้พร้อม! จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง 2564
มหาดไทย เว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสมรส รับรองบุตร – เปลี่ยนชื่อสกุล เหลือ 1 บาท
ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนสมรส รวมถึงการขอเปลี่ยนชื่อสกุล เหลือ “หนึ่งบาท”
วันที่ 18 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย การลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนครอบครัว การจดทะเบียนสมรสเหลือฉบับละ “หนึ่งบาท” ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รายละเอียดดังนี้
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจ และการดำรงชีพของประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระของประชาชน
ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวข้องกับการจะทะเบียนครอบครัวในเรื่องต่อไปนี้ ในเขตพื้นที่ภัยที่เกิดโรคติดเขื้อไวรัส โคโรนา 2019 ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึง 31 ธันวาคม 2564
(1) การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัว ฉบับละหนึ่งบาท
(2) การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนโดยมีผู้ขอ รายละหนึ่งบาท
(3) การจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรสซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น รายละหนึ่งบาท
และยังเผยแพร่ ประกาศของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย การออกหนังสือสำคัญเกี่ยวกับชื่อบุคคลเหลือฉบับละ “หนึ่งบาท” ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังต่อไปนี้
(1) การออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง
(2) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล
(3) การออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล
ขอบคุณข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์
สำหรับคู่รักที่กำลังจะแต่งงานแล้ว หรือ คู่รักที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสแล้วค่ะ เพราะนอกจากค่าธรรมเนียมจะลดเหลือ 1 บาทแล้ว การจดทะเบียนสมรสยังมีข้อดี ดังนี้
ข้อดี-ข้อเสีย ของการจดทะเบียนสมรส
ประเด็น | จดทะเบียนสมรส | ไม่จดทะเบียนสมรส |
1. สิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย | – การอุปการะเลี้ยงดูซึ่ งกันและกัน – สิทธิที่ภรรยาจะได้ใช้ชื่อสกุลสามี และเปลี่ยนสัญชาติตามสามีได้ (หรือไม่เปลี่ยนก็ได้) – สิทธิที่จะได้รับมรดกหากอีกฝ่ายจากไปก่อน (เป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดก) – สิทธิที่จะหึงหวงคู่สมรสอย่างถูกกฎหมาย ถ้ามีชู้ สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายจากคู่สมรสและชู้ได้ – ถ้าหย่าร้าง มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงดูได้ – มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือเอาผิดแทนกันได้ – มีสิทธิรับเงินสินไหม หรือเงินชดเชยจากราชการ กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ |
– ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ ได้ตามกฎหมาย – ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ยกเว้นมีชื่อเป็นทายาทตามพินัยกรรม (พินัยกรรมระบุให้รับมรดก) |
2. ทรัพย์สิน | – สินสมรส ได้แก่ รายได้ ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังสมรสแล้ว รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งต่างก็มีอำนาจจัดการสินสมรสเองได้ ไม่ต้องขออนุญาตต่อกัน เว้นแต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว ตามที่กฎหมายบัญญัติควบคุมไว้ จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน – ต่างฝ่ายมีสิทธิในสินสมรสกึ่งหนึ่ง |
– หากพิสูจน์ได้ว่ามีการอยู่กินฉันท์สามีภรรยา มีทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน จะถือว่ามีสิทธิร่วมกันในทรัพย์สินนั้น โดยจะมีสิทธิในทรัพย์คนละครึ่ง แต่หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมให้แบ่งทรัพย์สิน อาจต้องฟ้องร้อง (และต้องหาหลักฐานมายืนยัน) |
3. การทำนิติกรรมต่างๆ | – ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส ทำให้มีความยุ่งยากในการจัดการทรัพย์สิน | – ถ้าเป็นนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีสิทธิร่วมกัน ต้องได้รับความยินยอมเช่นกัน แต่ถ้าเป็นนิติกรรมส่วนตัว ไม่ต้องขอความยินยอม |
4. หนี้สิน | – หนี้ส่วนตัว ใช้สินส่วนตัวชำระก่อน ถ้าไม่พอจึงใช้สินสมรสในส่วนของตน – หนี้ร่วม (หนี้สมรส) เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกบังคับชำระหนี้ได้จากสินสมรส หากไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกเอาจากสินส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่าย |
– ถ้ามีหนี้สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน ใช้ทรัพย์สินที่มีสิทธิ์ร่วมชำระ – ถ้าเป็นหนี้ส่วนตัว ก็เป็นภาระส่วนตัว |
5. บุตร | – บุตรจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งบิดาและมารดา – ในกรณีเกี่ยวกับสิทธิของผู้รับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมาย บิดาหรือมารดา มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าสินไหม แทนกันและกัน ตัวอย่างเช่น รับเงินชดเชย ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ผู้เยาว์ มีบิดาหรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองยังมีชีวิตอยู่ – เป็นทายาทโดยธรรมของทั้งบิดาและมารดา – บิดามารดาก็เป็นทายาทโดยธรรมของบุตรเช่นกัน |
– บุตรจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของมารดาเท่านั้น และจะไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบิดา เว้นแต่บิดาจดรับรองบุตร หรือรับรองโดยพฤติการณ์ (เชิดชู ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู) บุตรจึงจะมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของบิดา และสามารถเรียกค่าเลี้ยงดูได้ (แต่บิดาไม่มีสิทธิรับมรดกจากบุตร เพราะไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย) |
6. การลดหย่อนภาษี | – ลดหย่อนคู่สมรส* – ลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส* – ลดหย่อนประกันชีวิตของคู่สมรส* – ลดหย่อนประกันสุขภาพของบิดามารดาคู่สมรส* – ลดหย่อนบุตร – มีสิทธิเลือกที่จะแยกยื่นแบบหรือรวมยื่นแบบกับคู่สมรสได้ เพื่อการวางแผนภาษีที่เหมาะสม – * กรณีรวมยื่นหรือคู่สมรสไม่มีรายได้ |
– ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ |
7. ผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต | – เงินคืนรายงวด เงินปันผล และเงินครบสัญญาจากกรมธรรม์ประกันชีวิตถือเป็นสินสมรส – หากเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่น พ่อแม่ทำประกันชีวิตไว้ และให้คู่สมรสเป็นผู้รับผลประโยชน์ หากพ่อแม่เกิดเสียชีวิต ผลประโยชน์ที่ได้จากกรมธรรม์ถือเป็นสินส่วนตัว |
– ถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว |
8. หากต้องการเลิกรากัน | – ต้องไปจดทะเบียนหย่า ซึ่งหากอีกฝ่ายไม่ยินยอม ต้องฟ้องร้องกัน | – สามารถเลิกรากันได้เลย |
การจดทะเบียนสมรส นอกจากจะมีผลในด้านกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อทั้งคู่พร้อมแล้ว มาดูกันว่า จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง 2564 และมีขั้นตอนในการจดอย่างไรบ้างกันค่ะ
เตรียมให้พร้อม! จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง 2564
- บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาหนังสือเดินทาง (กรณีชาวต่างประเทศ)
- หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต หรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล (กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ตัวจริง)
- พยานบุคคล จำนวน 2 คน
- พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประชาชนของพยานด้วย) ที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
- ถ้าเคยหย่ามาก่อน ให้พกหลักฐานการหย่าไปด้วย
- กรณีคู่สมรสคนก่อนหน้าเสียชีวิต ต้องมีหลักฐานการเสียชีวิต เช่น ใบมรณบัตร ประกอบ
- สูจิบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร กรณีที่มีลูกก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส
- แบบฟอร์ม คร.1 ตัวนี้สามารถขอได้จากที่อำเภอ หรือสำนักทะเบียนที่ไปจดทะเบียนสมรส
ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส
- รับเรื่อง – ผู้ร้องแจ้งความประสงค์ต่อนายทะเบียน โดยลงชื่อในคำร้องตามแบบคร.1 ที่นายทะเบียนเป็นผู้บันทึกข้อความ และจัดพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- ตรวจสอบหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้สำหรับบุคคลซึ่งไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- หนังสือให้ความยินยอม (กรณีผู้ร้องขอยังไม่บรรลุนิติภาวะและผู้มีอำนาจให้ความยินยอมไม่ได้มาด้วย)
- ผู้มีอำนาจให้ความยินยอม (กรณีผู้ร้องขอยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้มีอำนาจให้ความยินยอมมาด้วยตนเอง)
- ผู้ร้องขอเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนหรือไม่ หากหย่าแล้วต้องตรวจ สอบหลักฐานการหย่า หรือคู่สมรสตาย ให้ตรวจสอบหลักฐานการตาย
- คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่ให้จดทะเบียน (กรณีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล)
- พยานอย่างน้อย 2 คน
- นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย
- ผู้มีอำนาจในการจดทะเบียน ได้แก่ นายทะเบียน (นายอำเภอ / ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ / อำนวยการเขต / หรือผู้รักษาราชการแทน)
- หากผู้ร้องทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้บันทึก ข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเรื่องอื่น ให้นายทะเบียนพิมพ์รายละเอียดนั้นไว้ในช่องบันทึก
- ตรวจสอบข้อความในทะเบียนสมรส เมื่อพิมพ์ข้อความลงในทะเบียนสมรสแล้ว หากมีข้อผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ทันทีก่อนการสั่งพิมพ์ กรณีไม่มีการแก้ไขและได้สั่งพิมพ์แล้วจะไม่สามารถเรียกกลับมาแก้ไขได้อีก เพื่อเป็นการป้องกันการแก้ไขหรือลบข้อมูลโดยมิชอบ
- เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้สั่งพิมพ์ทะเบียนสมรส และใบสำคัญการสมรสเพื่อให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส และนายทะเบียนลงลายมือชื่อในใบสำคัญการสมรส
- มอบใบสำคัญการสมรส ให้แก่คู่สมรสฝ่ายละหนึ่งฉบับ และนายทะเบียนเก็บรักษาทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักฐาน
- การใช้นามสกุลของคู่สมรส ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างคู่สมรสให้ทางทะเบียนท้องที่บันทึกข้อตกลงของคู่สมรสว่าจะใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดโดยให้บันทึกต่อท้ายในแบบ คร. 2
เมื่อทราบกันแล้วว่า จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง 2564 ก็อย่าลืมจูงมือแฟน พ่อ/แม่ของลูก ไปจดกันได้เลยค่า
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
คุณแม่ควรรู้ไว้!! ประโยชน์ของ ทะเบียนสมรส ที่คุณอาจไม่เคยรู้
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณนิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่