สิ่งที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล
อย่าโพสต์รูปลูกลงโซเชียล
ถ้าไม่อยากถูกพวกโรคจิต Save รูปไปจิ้น
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา คุณแม่ท่านหนึ่งได้เข้าแจ้งความกับตำรวจแล้ว เนื่องจากมีญาติๆ พบเห็นว่ามีเฟซบุ๊กของชายคนหนึ่งนำภาพลูกสาวของคุณแม่ ไปมโนว่าเป็นหลานของตัวเอง ซึ่งเป็นรูปเก่าๆ ของลูกที่คุณแม่โพสต์ไว้หลายปีแล้ว ชายดังกล่าวนำมาเล่นเรื่องเป็นตุเป็นตะว่าไปรับที่โรงเรียน ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
คุณแม่แสดงความกังวลและต้องการออกมาเตือนคุณแม่ทุกท่านให้ระวังผู้ไม่หวังดีนำรูปลูกของตนเองไปใช้โดยไม่ทราบเจตนา ซึ่งในโพสต์ของชายดังกล่าวนั้นก็มีคนเชื่อและชื่นชมความน่ารักของเด็ก ทั้งๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติกันเลย คุณแม่จึงร้อนใจเข้าแจ้งความก่อนจะเกิดเหตุไม่ดีขึ้นอีก
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ใช่ครั้งแรกในบ้านเรา แต่เมื่อถูกแชร์มากทำให้ถูกพูดถึงและเป็นประเด็นทางสังคมว่าควรช่วยกันออกมาปกป้องสิทธิของเด็ก เพราะเด็กเองก็เลือกไม่ได้ว่าอยากจะเผยแพร่รูปของตัวเองหรือไม่ และอนาคตหากลูกย้อนกลับมาดูภาพ จะเหมาะสมหรือไม่?
ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มออกมาพูดถึงสิทธิของเด็ก และความปลอดภัยทางโซเชียลคือมาเลเซีย โดย กระทรวงการพัฒนาสังคม สตรี และความมั่นคงของประเทศมาเลเซีย ได้ยกตัวอย่างจากต่างประเทศมีการรณรงค์เรื่องการโพสต์รูปเด็กผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างจริงจัง เพราะ รูปเด็กน่ารัก อาจจะกลายเป็นเป้าของพวกชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก และอาจจะถูกสูบรูปไปโพสต์ไว้ในกลุ่มเว็บไซต์ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเมื่อภาพถูกเผยแพร่ไปโดยง่ายแล้วก็ยากที่จะสืบหาที่มาว่ามาจากไหน ตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาที่มีกฏห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ให้มีบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และอื่นๆ