บ้านเราซื้อของออนไลน์บ่อยขึ้นครับ ลูกๆ ก็มีแวะเวียนมาดูมาถาม มาคิดๆ ดูอนาคตอันใกล้เรื่องการซื้อขายในโลกใบนี้ก็คงมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย เราควรจะบอกจะสอนอะไรลูกๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างครับ
อ.วรากรณ์ : เทคโนโลยีในโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ถึง 20 ปีก่อน หากเราอยู่นอกบ้านและจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ก็ต้องมองหาตู้โทรศัพท์สาธารณะ และเมื่อพบแล้วก็ต้องคอยผู้กำลังใช้อยู่ หรือไม่ก็พบว่ามันเสียอย่างหงุดหงิดใจ ปัจจุบันเราสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา จะนอนหรือตีลังกากลับหัวโทรก็ติดต่อได้โดยไม่ง้อโทรศัพท์สาธารณะ
เช่นเดียวกัน แต่ก่อนต้องเดินหาซื้อของ ปัจจุบันการซื้อของสามารถกระทำผ่านจอโทรศัพท์หรือที่เรียกกันว่าซื้อขายออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทาง ทำให้ประหยัดโสหุ้ยไปได้มาก สำหรับลูกเราที่เติบโตในยุคเปลี่ยนผ่านนี้ เราควรให้ลูกได้มีประสบการณ์ไปพร้อมกับเรา และเข้าใจประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ 3-4 ข้อ
ข้อแรก การซื้อของออนไลน์นั้นไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์เหมือนการเหาะได้ หากแต่เป็นวิธีใหม่อีกหนึ่งวิธีของการซื้อของ เช่นแต่เดิมไปซื้อที่ร้าน สั่งซื้อของทางไปรษณีย์ ฝากคนซื้อของให้ จ้างวานผลิตของเป็นพิเศษ ฯลฯ วิธีใหม่นี้เป็นอีกทางเลือกใหม่ของการซื้อ
การทำความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้ลูกไม่บ้าคลั่งการซื้อของออนไลน์ หรือมองเห็นว่าเป็นทางเลือกเดียวจนอาจทำให้เป็นผู้บริโภคที่ขาดความรอบคอบได้ อย่าลืมว่าในการซื้อออนไลน์นั้นผู้บริโภคไม่สามารถเห็นสินค้าจริงและสัมผัสมันอย่างใกล้ชิด (ภาพที่แสดงกับสินค้าจริงอาจแตกต่างกันมาก) ไม่รู้ทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นของเลียนแบบหรือไม่
ข้อสอง การซื้อออนไลน์ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่นั้นเหมาะสมสำหรับการซื้อสินค้าบางชนิดและสำหรับการบริโภคบางลักษณะ ซึ่งแต่ละคนก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป การซื้อขายออนไลน์ไม่เหมาะสมสำหรับสินค้าทุกชนิดและสำหรับทุกคน
ตัวอย่างเช่น แหวนเพชร หรือจิวเวอรี่ไม่เหมาะต่อการซื้อออนไลน์ เพราะคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคา การสั่งซื้อสินค้าโดยไม่รู้ว่าสินค้าที่ได้รับจะมีคุณภาพระดับใดเป็นความเขลา
ในทางตรงกันข้ามการซื้อหนังสือออนไลน์ ซึ่งเป็นสินค้าที่คุณภาพในการผลิตเล่มมิใช่ประเด็นใหญ่ มีความเหมาะสมกว่า
สำหรับสินค้าที่พ่อแม่รู้จักคุ้นเคยดีและใช้เป็นประจำ เช่น ข้าวสาร (รู้จักชื่อและตราสินค้า) สบู่ น้ำปลา ผงซักฟอก ยาสีฟัน แชมพู กระดาษชำระ ฯลฯ สามารถซื้อออนไลน์ได้ในปริมาณมากและมีบริการส่ง ทั้งราคาถูกกว่าพอควรก็สมควรซื้อ
ข้อที่สาม สอนการเลือกเพื่อตัดสินใจแก่ลูกโดยร่วมสั่งซื้อออนไลน์ด้วยกัน พร้อมกับคำอธิบาย จะเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด
นอกจากการเลือกสินค้าที่จะซื้อแล้ว การสอนให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดและมีปัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ การอ่านฉลากหรือรับฟังข้อความโฆษณาคือการสะสมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ เปรียบเทียบและตัดสินใจ
สิ่งที่ควรตระหนักถึงก็คือราคาต่อหน่วยปริมาณย่อย อายุสินค้า วัตถุดิบ สารเคมีที่อยู่ในสินค้า กระบวนการผลิต วิธีการผลิต ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้บริโภคที่ชาญฉลาดจะไม่มองข้ามเป็นอันขาด
ข้อสุดท้าย เตือนใจลูกว่าการซื้อสินค้าที่ไม่คุ้นเคยทางออนไลน์นั้นต้องทำใจเพราะเปรียบเสมือนกับ ‘ศพถึงป่าช้า’ แล้ว กล่าวคือเมื่อสินค้ามาถึงมือก็หมายความว่าได้จ่ายเงินซื้อสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว (ถ้าเงินยังไม่ถึงมือคนขายเขาก็ไม่ส่งมาให้หรอก) และต้องยอมรับสินค้านั้นมาใช้ถึงแม้จะไม่เหมือนที่ปรากฏในรูปตอนโฆษณา และไม่ถูกใจก็ตาม
การซื้อของออนไลน์โดยแท้จริงแล้วก็คือการจ่ายเงินไปก่อนที่จะได้ของมา ซึ่งต่างจากการซื้อปกติที่ผู้ซื้อสามารถจับต้องลูบคลำสินค้า อ่านฉลาก วิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบกับสินค้าอื่นจนพอใจแล้วจ่ายเงินเพื่อแลกกับการได้สินค้ามา ผู้ซื้ออาจเปลี่ยนใจในขณะที่กำลังห่อของอยู่ก็สามารถทำได้โดยเอาเงินจำนวนนั้นไปซื้อสินค้าอื่นในร้านแทน
การคืนของที่ไม่ถูกใจจากการซื้อออนไลน์นั้นมีความเป็นไปได้เฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยุ่งยากพอสมควร ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักยอมรับไปโดยปริยาย
สุดท้ายถือเป็นของแถมครับ สิ่งสำคัญที่ควรสอนลูกคือ “ความรอบคอบ” ประเด็นเรื่องค่าส่งของตามที่ผู้ขายคิดดอกเบี้ยจากบัตรเครดิต ความซื่อสัตย์ไม่เล่ห์เก๊ของผู้ขาย ประโยชน์จริง ๆ ที่ได้รับจากสินค้า ราคาที่เหมาะสม เงินทั้งหมดที่ตัองจ่ายไปเพื่อให้ได้สินค้านั้นมา ฯลฯ
ซื้อของออนไลน์นั้นเป็นของดีเพราะประหยัดค่าโสหุ้ยในการซื้อขาย แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่หลายประการที่พ่อแม่ลูกผู้บริโภคพึงรู้ครับ
บทความโดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ภาพ: shutterstock