การเลี้ยงสัตว์ภายในบ้านหลังเดียวกันกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกนั้น เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวล ทั้งเรื่องความสะอาด เรื่องอันตรายที่อาจเกิดจากสัตว์ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับสัตว์เลี้ยง และพัฒนาการของลูก สัตว์เลี้ยงตัวแรกของลูกควรเริ่มเลี้ยงตั้งแต่เมื่อไหร่ เราจะ สอนลูกเลี้ยงสัตว์ ได้อย่างไร แล้วถ้าเราเลี้ยงสัตว์มาก่อนที่จะมีลูก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดการเรื่องลูก สัตว์เลี้ยง และบ้านอย่างไร วันนี้คุณแม่ฮอล์ – ลฬภัทร กสานติกุล บรรณาธิการบริหารบ้านและสวน Pets พา “พี่หมู” น้องหมาพันธุ์มินิบูลเทอร์เรีย ที่เลี้ยงมานานถึง 5 ปี และสอบผ่านการเป็นสุนัขนักบำบัด มาร่วมพูดคุยกับทีมแม่ ABK ค่ะ
สอนลูกเลี้ยงสัตว์: วิธีเตรียมตัวเมื่อต้องเลี้ยงลูกและสัตว์เลี้ยงร่วมกัน
เมื่อนึกถึงการเลี้ยงสัตว์ภายในบ้านหลังเดียวกับเด็กทารก สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะกังวลคือเรื่องของ “ความสะอาด” โดยคุณพ่อคุณแม่มักจะกังวลว่า เดี๋ยวสกปรก เดี๋ยวมีเชื้อโรค จะทำให้ลูกป่วย หรือเป็นภูมิแพ้ได้ คุณแม่ฮอล์จึงแบ่งการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับลูกออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
กรณีที่เลี้ยงสัตว์ก่อนที่จะมีลูก
กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีสัตว์เลี้ยงอยู่นบ้านตั้งแต่ก่อนที่จะมีลูก เมื่อถึงเวลาที่มีลูก หลายบ้านอาจเลือกที่จะทิ้งสัตว์เลี้ยง หรือนำไปปล่อย ด้วยความรู้สึกที่ว่า การเลี้ยงสัตว์ร่วมกับเด็กนั้นสกปรก มีเชื้อโรค จะทำให้ลูกป่วย เป็นภูมิแพ้ อย่างกรณีของคุณแม่ฮอล์ ตอนที่มีลูก ที่บ้านเลี้ยงแมวของน้องชายเอาไว้ ซึ่งก็กังวลเรื่องเชื้อราจากแมว กังวลเรื่องขนแมว กังวลเรื่องการทำความสะอาดบ้าน จนต้องย้ายแมวไปอยู่ที่อื่น ทั้ง ๆ ที่แมวตัวนี้เป็นแมวที่เราเลี้ยงมาตลอด และที่จริงแล้ว เราสามารถเลี้ยงแมวร่วมกับทารกหรือเด็กเล็กได้ หากมีการวางแผนให้ดีเสียก่อน
ทั้งที่จริงแล้ว สุนัขมีจมูกที่สามารถรับกลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์หลายเท่า อย่างที่เราจะเห็นได้จากสุนัขที่ปฏิบัติหน้าที่เดินตรวจในสนามบิน นี่เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของสุนัข คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถสร้างความคุ้นชินให้สุนัขได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง โดยการเปิดโฮกาสให้สุนัขมาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้คุณแม่ เพื่อให้สุนัขรับกลิ่นที่แปลกใหม่จนเกิดความคุ้นชิน ค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ บอกเล่าให้สุนัขรับรู้ว่าบ้านของเรากำลังจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มมา เพื่อให้ลูกและสัตว์เลี้ยงของเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งสุนัข หรือปล่อยไปเป็นสุนัขจร
หลังคลอด คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเลี้ยงลูกและสัตว์รวมกันทันที เพราะสุนัขที่เคยเป็นที่หนึ่งมาตลอดจะต้องถูกแบ่งความรักไป จนอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี และไม่เข้าใจกันได้ ควรแบ่งโซนให้ชัดเจน เช่น แบ่งห้อง แบ่งชั้น ให้เป็นสัดส่วน รักษาความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง ต่อให้ยังไม่ได้พบเจอกัน แต่สุนัขก็สามารถรับรู้กลิ่นทารกจนเริ่มคุ้นชินได้ เมื่อเด็กเริ่มคลาน จึงเริ่มให้ลูกและสัตว์เข้าใกล้กันได้มากขึ้น โดยควรพิจารณาจากสายพันธุ์ของสุนัข และพฤติกรรมของสุนัขด้วย ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับสัตว์ตามลำพัง ต้องอยู่ในสายตาตลอด พูดและบอกเล่าให้ลูกรู้จักสุนัข พาลูกมาทำความรู้จัก สอนวิธีลูบ สอนวิธีเล่น ค่อย ๆ ทำความรู้จักกันไป ค่อย ๆ เรียนรู้กัน มีงานวิจัยประมาณ 70-80% ที่พบว่า เด็กที่มีสุนัขอยู่ด้วยตั้งแต่เล็ก มีโอกาสเป็นหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้เติบโตมากับสุนัข
กรณีที่ที่บ้านไม่มีสัตว์เลี้ยง แล้วลูกขอเลี้ยงสัตว์
เมื่อเด็กเริ่มเห็นสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเห็นจากการ์ตูน โทรทัศน์ หรือสื่อต่าง ๆ ลูกอาจเริ่มอยากมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง อย่างกรณีของคุณแม่ฮอล์ ตอนที่ลูกอายุ 5 ขวบ ลูกเริ่มบอกคุณแม่ว่าไม่มีเพื่อนเลย อยากเลี้ยงสัตว์ เมื่อลูกบอกความต้องการของตนเองแล้ว คุณแม่ต้องทำความเข้าใจ ถามและตอบตัวเองให้ได้ รวมไปถึงการปรึกษาพูดคุยกับทุกคนในครอบครัว ว่าเรามีความพร้อมที่จะเลี้ยงสัตว์แล้วหรือยัง ทุกคนในครอบครัวรักสุนัขหรือไม่ มีเวลาในการดูแลสัตว์มากน้อยแค่ไหน พิจารณาสมาชิกในครอบครัวว่ามีผู้สูงอายุด้วยหรือไม่ อยากเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ไหน สุนัขพันธุ์นี้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของครอบครัวของเราหรือเปล่า พิจารณาความพร้อมทางการเงินในการเลี้ยงดู รักษาพยาบาล เหมือนกับการมีลูกเพิ่มอีกหนึ่งคน
เมื่อลูกมีอายุ 10 ปีขึ้นไป เด็กเริ่มมีความพร้อมที่จะดูแลและรับผิดชอบสัตว์ด้วยตัวเองได้มากขึ้น จึงเริ่มมีการคุยวางแผน สร้างข้อตกลง มอบหมายหน้าที่การเลี้ยงร่วมกับลูก มีการแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบกัน ให้ลูกรู้หน้าที่ของตัวเอง เด็กก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีจิตใจดีตามไปด้วย โดยจากการวิจัย พบว่า เด็กที่เลี้ยงสุนัขมีโอกาสติดเชื้อทางช่องหูน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์ให้อยู่บ้านเดียวกับลูกอย่างมีความรู้และมีความพร้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ มีการดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดทั้งสำหรับตัวเด็กและสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ทั้งเด็กและสัตว์เลี้ยงแข็งแรง ปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันไปพร้อมกัน
ข้อดีของการเลี้ยงลูกและสัตว์เลี้ยงร่วมกัน
- ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็ก เด็กมีความสุขมากขึ้น
- เด็กรู้สึกไม่เหงา มีเพื่อนคอยรับฟัง ไปไหนไปด้วยกัน
- เด็กมีจิตใจที่อ่อนโยน เป็นห่วงสิ่งมีชีวิต รู้จักการให้ความรักและการดูแล มีความตระหนักถึงผู้อื่นมากขึ้น นึกถึงผู้อื่นนอกเหนือจากตัวเอง
- เด็กมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยง รู้ว่าจะต้องทำอะไร มีการวางแผน เตรียมความพร้อม รู้จักการเตรียมน้ำเตรียมอาหารให้สุนัขก่อนออกนอกบ้าน
- เด็กมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ทำเพื่อสิ่งมีชีวิตที่ตัวเองรัก สามารถดูแลปกป้องสัตว์เลี้ยงที่เขารักได้ รวมไปถึงสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลสัตว์เลี้ยงแทนพ่อกับแม่ได้
- เด็กมีความรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักกฎระเบียบของแต่ละสถานที่ รู้จักการฝึกสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข ระมัดระวัง ช่วยดูแลสังคม ดูแลเรื่องการขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง ไม่ให้สัตว์เลี้ยงของตนเองสร้างความเดือดร้อน หรือรบกวนผู้อื่น
- เด็กรู้จักการวางแผน รู้ว่าตอนเช้าต้องตื่นให้เร็วขึ้น อาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหาร จัดการตัวเองให้เร็วขึ้น เผื่อเวลาให้มากขึ้นเพื่อพาสุนัขออกไปขับถ่ายนอกบ้าน เป็นต้น
- เด็กรู้จักการแบ่งเวลา รู้จักการบริหารเวลา จัดสรรเวลาให้เหมาะสมตามความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องอ่านหนังสือสอบก็สามารถดูแลหน้าที่ของตนเองคาบคู่ไปกับการดูแลสัตว์เลี้ยงได้
- เด็กมีวินัยในตัวเอง รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง รู้สึกภาคภูมิใจ เป็นการปลูกฝังระเบียบวินัยให้กับตัวเอง รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร
- เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดประสบการณ์ใหม่ เกิดการสังเกต เรียนรู้ ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการฉุกคิด เช่น เห็นคนเอาตับไก่ปิ้งให้สุนัขกิน แล้วกลับมาคิดว่าสามารถทำได้หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ เกิดการสังเกตอุจจาระของสุนัข แล้วตั้งคำถามว่าทำไมสุนัขจึงอุจจาระเหลว ก่อนที่จะค้นหาคำตอบ เกิดความรู้ใหม่ มีความรู้รอบตัวมากกว่าเพื่อนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์
- เป็นการฝึกการเข้าสังคม ช่วยส่งเสริมให้เด็กกล้าคุย กล้าปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น จากการพาสุนัขไปเดินเล่น ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ
- เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นสื่อกลางระหว่างลูกกับทุกคนในครอบครัว ทุกคนในครอบครัวได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน มีประเด็นให้พูดคุยร่วมกัน
- เด็กค้นพบความชอบของตัวเอง สามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเองจากการปฏิบัติจริง และรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร
การความพร้อม และเตรียมตัวก่อนเลี้ยงสุนัข
จากประสบการณ์การเลี้ยงสุนัขของคุณแม่ฮอล์ คุณแม่ฮอล์แบ่งโซนภายในบ้านให้มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงสุนัขทั้งในบ้านและกลางแจ้ง โดยการกั้นคอกหรือทำเซฟโซนให้สุนัขอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขพบเจอกับสัตว์มีพิษ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เมื่อสุนัขรู้สึกไม่ปลอดภัย สุนัขจะวิ่งกลับมาที่เซฟโซนเอง เพราะเขารู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัย รู้สึกอุ่นใจ สบายใจ ที่อยู่ตรงนี้ มีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบความเรียบร้อย มีพัดลม มุ้งลวดป้องกันยุง มีความแข็งแรง สามารถป้องกันฝนสาด และยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย ส่วนพื้นที่ภายในบ้านนั้น คุณแม่ฮอล์จัดให้มีห้องสำหรับเลี้ยงสุนัขโดยเฉพาะ
อยู่กับสุนัขอย่างไรให้มีความสุข
คุณพ่อคุณแม่ควรแบ่งโซนระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงให้เป็นสัดส่วน ให้คนและสัตว์เลี้ยงยังอยู่ร่วมกัน แต่ก็มีพื้นที่เป็นของตนเองด้วย ประยุกต์พื้นที่ให้สุนัขอยู่ในกรง ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับเจ้าของได้ ปรับให้เหมาะสมสำหรับบ้านแต่ละหลัง ให้สุนัขไม่รบกวนการใช้ชีวิตของคน เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงานได้อย่างมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ห่างกัน หรือแยกขังจนสุนัขรู้สึกโดดเดี่ยว มีพื้นที่ให้อาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมีความสุข รู้สึกปลอดภัย รักษาสะอาดให้ดี ไม่เกิดความหมักหมม ข้าวของไม่เสียหาย ออกแบบบ้านให้เหมาะสำหรับสัตว์ที่เราเลี้ยง เช่น การออกแบบบันไดที่เหมาะสำหรับความสูงของสุนัขสายพันธุ์นั้น เพราะสุนัขพันธุ์เล็กที่ต้องขึ้นลงบันไดที่สูงเกินไป อาจเกิดปัญหาสุขภาพข้อและกระดูกตามมาได้ หรือการออกแบบความถี่ของระแนงรั้ว ความสูงของรั้ว เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขหลุดหนีหรือหลงทางหายไป และป้องกันไม่ให้ล้อเลื่อนของประตูมาทับอวัยวะต่าง ๆ ของสุนัข จนเกิดอันตรายตามมา เป็นต้น
การ สอนลูกเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงการเลี้ยงลูกและสัตว์เลี้ยงร่วมกันไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่มีการพูดคุย วางแผน เตรียมความพร้อมให้ดี เมื่อมีการวางแผนให้ดีแล้ว ทุกคนในครอบครัวรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยกันได้แล้วค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ
สอนลูก วาดรูปง่ายๆ รูปสัตว์น่ารักกว่า 20 แบบ ฝึกวาดเส้นเสริมจินตนาการ