ครูลงโทษเด็ก – มีครูสอนวิทยาศาสตร์ ที่บุรีรัมย์ ใช้วิธีลงโทษนักเรียนที่ไม่ส่งการบ้าน 20 คน ด้วยวิธีแบบโบราณ “ขายขนมจีบ” ใช้แปรงลบกระดานเคาะปลายนิ้วจนเด็กบาดเจ็บเป็นห้อเลือด แม่โพสต์ จิตใจครูทำด้วยอะไร เด็กเจ็บจนร้องไห้ก็ยังตีไม่หยุด โดยล่าสุดครูรายนี้โดนทางโรงเรียนต้นสังกัดสั่งพักการสอนแล้ว
โผล่อีก! ครูลงโทษเด็ก ให้ทำนิ้วขนมจีบ แล้วตีจนห้อเลือด!
สืบเนื่องจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้โพสต์ภาพ มือของลูก ที่บริเวณปลายนิ้วและเล็บเป็นรอยช้ำ ลักษณะห้อเลือด พร้อมข้อความบรรยายพฤติกรรมคุณครูที่ลงโทษเด็กนักเรียนถึง 20 คน จากนักเรียนทั้งหมด 22 คน โดยการให้จีบมือ หรือที่เรียกกันว่า “ขายขนมจีบ” แล้วใช้แปรงลบกระดานดำเคาะที่ปลายนิ้ว จากสาเหตุที่นักเรียนไม่ยอมทำการบ้านตามที่ครูสั่งทางกลุ่มไลน์ โดยเรียกร้องให้คุณครูที่ลงโทษเด็กนักเรียน ได้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมหรือไม่ พร้อมกล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารโรงเรียน และคณาจารย์ที่ได้แสดงความห่วงใยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน วิธีการลงโทษเด็กด้วยการใช้ความรุนแรงเริ่มไม่ได้รับความนิยม หรือสังคมให้การยอมรับเหมือนในอดีต เนื่องจากเป็นวิธีการที่ในระดับสากล ต่างลงความเห็นว่า การใช้ความรุนแรงกับเด็กในการลงโทษไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเด็ก หากแต่ส่งผลกระทบในทางลบมากกว่า อย่างเช่น ในประเทศสวีเดนซึ่งเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายที่ว่าด้วยการห้ามลงโทษเด็กด้วยการตี นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประทศที่ออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
สำหรับประเทศไทย การลงโทษทางร่างกายเหมือนเป็นวัฒนธรรมที่สานต่อมายาวนาน จนกลายเป็นคำสำนวนไทยว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งการตีในที่นี้หากไม่ได้กระทำการรุนแรงมากก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การลงโทษเด็กด้วยการตี เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก การปลูกฝังวินัยด้วยการลงโทษทางร่างกาย อาจทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น จะลดความสามารถในการทำงานของสมอง ทำให้ระดับสติปัญญาและความสามารถทางการสื่อสารด้วยวาจาลดต่ำลง เพิ่มความวิตกกังวลและความก้าวร้าว และที่สำคัญ ยังไม่มีประสิทธิภาพในการหยุดพฤติกรรมในระยะยาวอีกด้วย
4 ผลเสีย ของการลงโทษเด็กด้วยการตี
1. สมองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง
การทำร้ายร่างกายเด็ก ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากมายต่อเด็ก เช่น กระดูกหัก และการเกิดบาดแผล การลงโทษทางร่างกายยังมีส่วนในการลดการทำงานของสมอง และทำให้ไอคิวลดลง ตามการศึกษาของ Akemi Tomodo จิตแพทย์ของ Harvard Medical School ในการศึกษาบุคคล 1,455 คนที่ตีพิมพ์ในชื่อ “Reduced Prefrontal Cortical Grey Matter Volume in Young Adults Exposed to Harsh Corporal Punishment” ใน Neuroimage ในปี 2010 เป็นไปได้ว่าความกลัวและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับเด็ก ทำให้การตอบสนองต่อความเครียดเพิ่มขึ้น สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงการพัฒนาของสมองเมื่อ พลังงานถูกเตรียมพร้อมสำหรับอันตรายที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะได้เรียนรู้
2. ความสามารถทางการสื่อสารลดลง
เด็กที่ถูกลงโทษทางกายเป็นประจำตั้งแต่ยังเล็ก จะมีความสามารถทางวาจาน้อยกว่า เมื่ออายุได้ 5 ขวบ เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ถูกลงโทษทางร่างกาย นอกจากนี้ยังกระตั้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ศาสตราจารย์ Michael MacKenzie แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ทำการศึกษาเด็ก 4,200 คน ในประเด็น “การลงโทษทางร่างกายและพฤติกรรมเด็ก และผลลัพธ์ทางปัญญาผ่านอายุ 5 ปี” พบว่าเด็กที่ถูกตีเป็นประจำ มักมีความสามารถในการจดจำเสียง และมีปัญหาในการพูด เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ถูกลงโทษทางร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งวิชาการและทักษะในการเข้าสังคม โดยนักวิจัยสนับสนุนให้เลือกใช้วิธีการอื่นแทนการตี เช่น การพูดคุยอย่างเปิดเผย หรือ “ให้เวลาคุณภาพ” ที่พ่อแม่จะสามารถนั่งอยู่กับลูกจนกว่าพวกเขาจะสงบสติอารมณ์ และสามารถพูดกับลูกอย่างสงบได้
3. เด็กเกิดความวิตกกังวล ความก้าวร้าว และขาดทักษะทางสังคม
เจนนิเฟอร์ แลนด์สฟอร์ด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ได้ทำหารศึกษาเด็ก 1,196 คน ในประเด็น “การลงโทษทางร่างกาย ความอบอุ่นของมารดา และการปรับตัวของเด็ก” โดยผลการศึกษาได้ลงตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาคลินิกและวัยรุ่นในปี 2557 ระบุว่า การลงโทษทางร่างกายนำไปสู่ความวิตกกังวลและความก้าวร้าว ส่งผลเสียต่อเด็กเมื่อต้องไปโรงเรียนและอาจสร้างปัญหาต่างๆ กับคนรอบข้าง ทำให้เด็กๆ คนอื่นหลีกเลี่ยงที่จะคบหาด้วย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคม นอกจากนี้ การศึกษาังพบว่า การโอบกอด การให้ความอบอุ่น และการสนับสนุนที่ดีของมารดา โดยปราศจากการลงโทษทางร่างกาย จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงดู และปลูกฝังวินัย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ นำไปสู่ความวิตกกังวลและความก้าวร้าวที่น้อยลงของเด็ก
4. เป็นการลงโทษที่ไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาว
Elizabeth T. Gershoff ศาสตราจารย์และนักวิจัยจาก University of Texas ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ว่า “เรารู้เพียงพอแล้วที่จะหยุดตีลูกของเรา” ในมุมมองของการพัฒนาเด็ก ในปี 2014 แม้ว่าเด็กบางคนจะหยุดพฤติกรรมในระยะสั้นหลังจากการถูกพ่อแม่ลงโทษด้วยการตี แต่พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ ต่อไปในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพ่อแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ การใช้เทคนิคด้านการปลูกฝังวินัยที่อธิบายให้เด็กเข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมพฤติกรรมเหล่านี้จึงผิด ที่ไม่ใช่ “จะโดนตี หากทำมัน” เป็นสิ่งสำคัญ ในการหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : oureverydaylife.com , thairath.co.th
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ครูตีเด็ก ผิดกฎหมายหรือไม่? ตีเด็กอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง?
10 ขอบเขต ลงโทษเด็ก ป้องกันลูกจิตใจบอบช้ำหลังถูกทำโทษ
วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี ปูพื้นฐานชีวิตลูกให้ดีใน 3 ปีแรก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่