จดทะเบียนรับรองบุตร ทำอย่างไร ลูกอายุเท่าไหร่ถึงจดได้? - Amarin Baby & Kids
จดทะเบียนรับรองบุตร

จดทะเบียนรับรองบุตร ทำอย่างไร ลูกอายุเท่าไหร่ถึงจดได้?

Alternative Textaccount_circle
event
จดทะเบียนรับรองบุตร
จดทะเบียนรับรองบุตร

เมื่อพ่อ (หรือแม่) ต้องการ จดทะเบียนรับรองบุตร ให้กับลูก จะต้องไปจดที่ไหน? ทำอย่างไรบ้าง? ใช้เอกสารอะไรบ้าง? ลูกต้องมีอายุเท่าไหร่ถึงจดได้? หากไม่ได้รับการยินยอมจะต้องทำอย่างไร?

จดทะเบียนรับรองบุตร ทำอย่างไร ลูกอายุเท่าไหร่ถึงจดได้?

จดทะเบียนรับรองบุตรสำคัญอย่างไร?

กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เด็กที่เกิดจากมารดาและบิดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ให้ถือว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมายของมารดาเสมอ แต่เด็กจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วยหรือไม่นั้น แม้ว่ากฎหมายได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า เด็กที่เกิดจากมารดาขณะที่อยู่กินกับชายผู้เป็นบิดา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายด้วย แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังจะต้องพิจารณาเงื่อนไขของกฎหมายหรือต้องดูข้อเท็จจริงอีกหลายประการ

จากหลักกฎหมายและคลิปจากรายการคลายทุกข์ชาวบ้าน ตอน “กฎหมายใกล้ตัว : สามีภรรยาที่มีลูกด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส” จะเห็นได้ว่าในทางกฎหมาย พ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะอยู่กินกันอย่างเปิดเผย ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะถือว่าเป็นลูกที่ชอบตามกฎหมายของแม่แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น สิทธิต่าง ๆ ในตัวลูกจะเป็นของแม่แต่เพียงฝ่ายเดียว พ่อจะไม่มีสิทธิใด ๆ ในตัวลูกเลย รวมถึงสิทธิที่ได้ลูกควรจะได้รับ เช่น สิทธิในการรับมรดก สิทธิในการรับค่าเลี้ยงดูจากพ่อ เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือสามีที่มิได้จดทะเบียนสมรสด้วยนั้น สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. บิดามารดาได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้าพ่อและแม่สมัครใจ
  2. บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งจะมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด
  3. ศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งจะมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด

ขั้นตอนการ จดทะเบียนรับรองบุตร

การขอจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น ไม่สามารถทำได้ในทันทีเหมือนการจดทะเบียนทั่วไป เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 3 ฝ่าย คือ บิดา มารดา และตัวบุตรเอง โดยมีขั้นตอนในการ จดทะเบียนรับรองบุตร ดังนี้

  1. บิดาต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต พร้อมทั้งแนบเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน ได้แก่
    • บัตรประจำตัวประชาชน ของบิดา มารดา สูติบัตรของบุตร
    • สำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน ของบิดา มารดา และ บุตร
    • หนังสือแสดงความยินยอมของบุตร
    • หนังสือแสดงความยินยอมของมารดาของบุตรก่อนรับจดทะเบียน
    • พยานบุคคลจำนวน 2 คน
  2. นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล เช่น บิดามารดา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ความจริงเสียก่อน กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อ ได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ดังนั้น เด็กและมารดาเด็กต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนทั้งสองคน ซึ่งอาจมาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนก็ได้ ในกรณีที่เด็กและมารดาไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดา ถ้าทั้งสองคนไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง (ถ้าเด็กและมารดาอยู่ต่างประเทศให้ขยายเวลาเป็น 180 วัน) ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม
  3. ทั้งนี้การจดทะเบียนรับรองบุตรมารดาและบุตรต้องให้ความยินยอมด้วย ในกรณีที่มารดาหรือบุตรคัดค้านว่าบิดา
    ผู้ขอจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ในกรณีบุตรเป็น
    ผู้เยาว์ไร้เดียงสา หรือมารดาเสียชีวิตแล้ว นายทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนรับรองบุตรให้ได้ นอกจากจะได้
    ยื่นร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรได้ไปแสดง
ฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร
ฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร

ในกรณีหากมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งจดทะเบียนรับรองบุตร จะต้องเตรียมอะไรบ้าง?

  1. บัตรประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้าน ทั้ง บุตร บิดา มารดา
  2. ใบสูติบัตรบุตร
  3. เด็กใช้นามสกุลพ่อ หรือพ่อเป็นผู้แจ้งเกิด
  4. หากในกรณีที่เด็กไม่ใช้นามสกุลพ่อ หรือ พ่อไม่ได้เลี้ยงดู ต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ
  5. หลักฐานการเลี้ยงดูว่าพ่อเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตร (หากมี)

พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่มีชื่อพ่อในสูติบัตรของเด็ก ถือว่าเป็นการรับรองบุตรแล้วหรือไม่?

การที่มีชื่อของชายอยู่ในสูติบัตรระบุว่าเป็นบิดานั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่บิดามารดายังมิได้มีการสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งก็คือการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้น เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาโดยยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส เด็กคนนั้นก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือชายผู้นั้นแม้จะมีชื่อปรากฎในสูติบัตรแล้วก็ตาม

ทำไมบิดาจึงต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้สามารดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้ในกรณีที่บุตรอายุยังน้อยมาก เช่น 5 เดือน หรือ 1 ขวบ?

กฎหมายกำหนดว่า การที่บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและตัวเด็ก ในกรณีที่เด็กหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมหรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้ บิดาก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล การที่เจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอไม่รับจดทะเบียนเด็กที่มีอายุยังน้อย ยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้นั้น ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องมีความยินยอมของเด็กด้วยในการที่จะจดทะเบียนรับรองบุตร โดยส่วนใหญ่นั้นจะถือเอาการที่เด็กสามารถเขียนชื่อตัวเองได้เป็นหลักฐานในการให้ความยินยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนได้

ถ้าศาลสั่งให้บิดาสามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้ว มารดาหรือเด็กจะสามารถคัดค้านไม่ให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้หรือไม่?

แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้วนั้น แต่มารดาหรือบุตรยังมีสิทธิที่จะสามารถแจ้งไปยังนายทะเบียนว่าบิดาเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งหากบิดาต้องการจะมีอำนาจในการปกครองบุตรด้วยนั้น ก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลท่านพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยสามารถดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรและขอใช้อำนาจในการปกครองบุตรไปพร้อมกันได้เลยตามมาตรา 1449

ขอรับรองบุตร
ขอรับรองบุตร

จะเห็นได้ว่าการ จดทะเบียนรับรองบุตร ในทางกฎหมายจะเห็นแก่ประโยชน์ของตัวบุตรเองเป็นสำคัญ ดังนั้น ไม่ว่าการจดทะเบียนรับรองบุตรในครั้งนี้ จะเกิดการกระทบกระทั่งของฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ สุดท้ายแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่เอาประโยชน์และความสุขของลูกน้อยเป็นที่ตั้งนะคะ ขอเอาใจช่วยทุกฝ่ายค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อได้ไหม? อนาคตจะมีปัญหาหรือไม่?

สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เมื่อไม่ได้จดทะเบียน

แก้ไขใบสูติบัตร ถอนชื่อพ่อออกจากใบเกิด ทำได้ไหม?

ผลระยะยาวของการแต่งงานแล้วไม่จดทะเบียน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเขตจอมทอง, www.elt-corp.com, www.nitilawandwinner.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up