ปัจจุบันด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าทั้งการแพทย์และสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างทั่วถึง ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวอาจจะลดน้อยถอยลงหรือสูญไปแล้วก็ได้ เพราะสมัยนี้เมื่อเด็กป่วย พ่อแม่ก็พาไปหาหมอได้ทันที แต่สิ่งเหล่านี้ก็ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงภูมิปัญญาและแนวคิดของคนในอดีตที่พยายามคิดค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะปกป้องลูกหลานของตนให้มีชีวิตอย่างปกติสุข หลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย อีกทั้งยังเป็นสร้างขวัญและกำลังใจแก่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นอีกด้วย นับเป็นความชาญฉลาดของบรรพชนที่น่าศึกษาอีกกรณีหนึ่ง
แม่ซื้อคือใคร
แม่ซื้อหรือแม่เซ้อเป็นสิ่งเร้นลับที่อยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน ไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัด แต่เชื่อกันว่าทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 12 ขวบ ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิด และพฤติกรรมของชาวบ้านกลุ่มนั้นอย่างลึกซึ้ง เพราะมีการสืบทอดปลูกฝังสืบต่อกันมาหลายชั่วคน
ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า แม่ซื้อ คือ เทวดาหรือผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก เทวดาหรือผี ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงอมุนษย์ คือบางแม่ซื้อเป็นเทวดา บางแม่ซื้อก็เป็นผี แม่ซื้อจะเข้ามาสถิตในบ้านที่มีเด็กอ่อน หรือเด็กทารกแรกเกิด โดยการสิงสถิตจะเข้ามาดูแลรักษาดูแลทารก เวลาจะชมเด็กที่น่ารักก็ให้ชมว่า “น่าเกลียดน่าชัง” มิเช่นนั้นแม่ซื้อจะรู้ว่าหน้าตาเด็กน่ารักจนอยากเอาไปอยู่ด้วย กับยังมีการให้ผู้อื่นรับซื้อเด็กไป เพื่อให้ผีเข้าใจว่าแม้แต่แม่ยังไม่รัก ไม่อยากได้ไว้ ผู้ที่ซื้อเด็กจึงมีชื่อเรียกว่า แม่ซื้อ
แม่ซื้อ ในลักษณะทั่วไปกล่าวว่าเป็นเทวดา คงคิดกันแล้วว่าคงสวยสดงดงาม แล้วถ้าเรียกว่าผีล่ะ คงจะจินตนาการกันว่าน่าเกลียดน่ากลัว แม่ซื้อไม่ได้น่าเกลียดอย่างที่หลายคนคิด แม่ซื้อทั้งเจ็ด มีที่สิงสถิตอยู่ในเมืองบน เมืองล่าง และกลางหน
ตามความเชื่อว่าหากเด็กทารก คลอดให้นำรกเด็กไปฝังไว้ตามที่อยู่ของแม่ซื้อ จะทำให้แม่ซื้อรักใคร่ หากไม่เช่นนั้นแล้ว แม่ซื้อจะคอยหลอกหลอนทารกให้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อใดที่แม่ซื้อสิงสถิตจะสำแดงให้ทารกเจ็บป่วยตามลักษณะอาการของโรคแม่ซื้อ
พิธีกรรมการทำแม่ซื้อ
คือ พิธีกรรมบูชาแม่ซื้อนั่นเอง เพื่อขอให้แม่ซื้อเอาใจใส่ดูแลลูกน้อยทารกให้มากขึ้น ให้หายจากอาการตกใจกลัวหรืออาการหวาดสะดุ้งผวา จนไม่เป็นอันกินอันนอน กระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วย
ซึ่งเมื่อเด็กทารกมีอาการดังกล่าว พ่อแม่ก็จะไปหาหมอเฒ่าประจำบ้านมา “ทำแม่ซื้อ” สิ่งของที่หามามีบายศรี และเครื่องสังเวยแม่ซื้อและตายายประจำบ้าน ได้มีการประกอบพิธีกรรมอยู่เป็นเวลานานพอสมควร
แม้ว่าแม่ซื้อจะเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริง แต่บางครั้งก็ให้โทษด้วยเช่นกัน เพราะอาจหยอกล้อเด็กทารกแรงเกินไป ด้วยการแปลงกายเป็นสัตว์ต่าง ๆ เป็นยักษ์เป็นมาร ฯลฯ มาหลอกหลอนเด็กจนทำให้เด็กทารกตกใจกลัวป่วยไข้ไป ดังความว่า “เป็นช้างเสือสีห์ เป็นแร้งเป็นกาเป็นครุฑเลียงผา เป็นควายเป็นวัว เป็นนกเงือกร้อง กึกก้องพองหัว ตัวเป็นตัววัว หัวเป็นเลียงผา บ้างเป็นงูเงือก หน้าลาตาเหลือก ยักคิ้วหลิ่วตา บิดเนื้อบิดตัว น่ากลัวนักหนาตัวเป็นมฤคา เศียรากลับผัน เป็นยักษ์ขินี เติบโตพ่วงพี ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ทารกเห็นร้อง ขนพองตัวสั่น ดิ้นด้าวแดยัน กายสั่นรัวรัว ให้ร้อนให้เย็น ร่างกายแข็งเข็ญ เป็นไข้ร้อนตัวท้องขึ้นท้องพอง เจ็บป่วยปวดหัว แม่ซื้อประจำตัว ทำโทษโทษา”
การทำแม่ซื้อเชื่อกันว่าจะช่วยให้ความเป็นไปของทารกเช่นที่กล่าวมานั้นหายเป็นปกติได้และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็กก็อาจจะทำแม่ซื้อขึ้นโดยที่เด็กไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ได้ ในแต่ละท้องถิ่นมีการทำแม่ซื้อแตกต่างกัน บางแห่งจะทำยันต์แม่ซื้อแขวนไว้ที่เปลของเด็กก็มี
อ่านต่อ >> “พิธีทำขวัญให้ทารก” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่