ประกันสังคม รักษามะเร็ง อะไรได้บ้าง ใครมีสิทธินี้
มะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องค่าใช้จ่ายจึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำหรับผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน แต่สำหรับผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมนั้นไม่ต้องห่วง เพราะสิทธิ ประกันสังคม รักษามะเร็ง ได้ค่ะ จะมีมะเร็งชนิดใดที่ได้สิทธิบ้างมาดูกันค่ะ
ประกันสังคม รักษามะเร็ง ใครมีสิทธิบ้าง
สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็งได้ตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตน ได้แก่1. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ได้แก่ พนักงานประจำ ลูกจ้าง (มนุษย์เงินเดือน) ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
2. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ได้แก่ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาจากอาชีพเดิมแต่ยังต้องการสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมไว้
สำหรับผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม และตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
โดยสถานพยาบาลที่เลือกไว้จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษา และจะไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน
ยกเว้นมีค่าใช้จ่ายในการบริการด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม เช่น การใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ที่จะทำให้สิทธิการรักษามะเร็งขั้นพื้นฐานไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายยาในส่วนนี้
สิทธิประกันสังคมรักษาโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง
การรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด จะต้องให้การรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่กำหนดไว้ในแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง
- โรคมะเร็งเต้านม
- โรคมะเร็งปากมดลูก
- โรคมะเร็งรังไข่
- โรคมะเร็งมดลูก
- โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก
- โรคมะเร็งปอด
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ใหญ่ตรง
- โรคมะเร็งหลอดอาหาร
- โรคมะเร็งตับ และท่อน้ำดี
- โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia (APL)
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่
- โรคมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่
- โรคมะเร็งเด็ก
กรณีการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
กรณีการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นนอกเหนือจากโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
วิธีการรักษาโรคมะเร็ง
การรักษาที่มีประสิทธิภาพคือการรักษาที่เข้าถึงผู้ป่วยมะเร็งทุกคนได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างยืนยาว ซึ่งปัจจุบันการรักษามะเร็งมีหลายวิธี ได้แก่
การผ่าตัด (Surgery) เป็นวิธีรักษามะเร็งเฉพาะที่มายาวนาน ซึ่งมีการพัฒนาการผ่าตัดให้ไม่สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียน้อยที่สุด ที่สำคัญปัจจุบันมีเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กที่ผลการรักษาเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่แผลเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดระหว่างผ่าตัดลดลง ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนและการติดเชื้อจากการผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็งจึงคลายความกังวลจากการผ่าตัดรักษาได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ
รังสีรักษา (Radiotherapy) หรือการฉายแสงเป็นการใช้รังสีกำลังสูงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่กำหนด โดยแพทย์รังสีรักษาจะวางแผนการให้ปริมาณรังสีที่มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด การใช้รังสีรักษาสามารถรักษามะเร็งบางชนิดให้หายขาด บรรเทาอาการจากมะเร็ง อาทิ ลดความเจ็บปวด หยุดการไหลของเลือด เป็นต้น อีกทั้งยังรักษาภาวะเร่งด่วนที่เกิดจากโรคมะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันรังสีรักษาได้พัฒนาไปมากเพื่อให้รักษาได้ถูกต้องตรงตำแหน่งและลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาโดยการให้ยา (สารเคมี) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยยาเคมีบำบัดจะเข้าไปขัดขวางการแบ่งเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติจึงอาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนอกจากยาเคมีบำบัดจะช่วยให้หายขาด ยังสามารถให้เคมีบำบัดก่อนผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง และใช้รักษาเสริมหลังผ่าตัดเพื่อลดโอกาสมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) เป็นการใช้ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งหรือยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งใช้ได้ในการรักษามะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งเต้านมที่อาจต้องกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิงและมะเร็งต่อมลูกหมากที่กระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น
การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) จะเข้าไปออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ใช้ได้ดีกับเนื้อเยื่อมะเร็งที่มีเป้าจำเพาะต่อยาเท่านั้น จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเป็นสำคัญ
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ใช้หลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็งเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้รักษามะเร็งได้หลายชนิด ขึ้นอยู่กับชนิด ลักษณะ และความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่ได้ผลดีในการรักษาและผลข้างเคียงต่ำ แต่ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง
การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow/Stem Cell Transplantation) มีทั้งแบบการใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวเองหรือของบุคคลที่มีความเข้ากันได้ของระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งระบบเลือดอื่น ๆ หรือมะเร็งเซลล์สืบพันธุ์บางชนิด
การรักษาแบบผสมผสาน (Combined Modality Therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสหายและรอดชีวิต แต่จะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับระยะ ความรุนแรงของโรค และสุขภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งจะประเมินการรักษาอย่างละเอียดเพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ทีมบรรณาธิการ ABK อยากให้คุณพ่อคุณแม่ ป้องกันมะเร็งด้วยการดูแลสุขภาพ และหมั่นตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะเร็งหากรู้เร็ว รักษาเร็ว เพิ่มโอกาสหายได้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
PPTV HD , มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เซฟเก็บไว้ดูเลยแม่! ตารางวัคซีน 2565 อัปเดตจากสมาคมโรคติดเชื้อฯ