ความคิดเห็นของคุณแม่บอกลูกอย่างไรว่า พ่อแม่เลิกกัน แล้ว
คุณแม่ท่านนี้ได้เปิดเผยว่า “ก็คงจะบอกลูกไปตรง ๆ ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่สามีภรรยาจะกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่การที่สามีทำร้ายร่างกายคงไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ คนเราอยู่ไม่ได้ถ้าเราขาดความมั่นคงในจิตใจ ความปลอดภัยในชีวิต เรื่องความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย และทำร้ายจิตใจเป็นเรื่องใหญ่มาก จนเกิดคำถามว่า ถ้าคนที่รักเรากล้าที่จะทำแบบนี้แล้วคนข้างนอกจะทำยังไง ส่วนเรื่องบนเตียงเป็นเพียงส่วนประกอบ ไม่ใช่ปัญหาหลัก ลูกจึงไม่สามารถเชื่อมต่อเราสองคนได้ เพราะระบบการจัดการในครอบครัวมันไม่ดี เรายอมให้ลูกออกมาจากสภาพนั้นดีกว่า ไม่อยากให้ลูกเจอภาพความรุนแรงอีกแล้ว มันไม่ดีแน่”
“โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพ่อและแม่เลิกกัน มักจะมีข้อตกลงเรื่องการให้เวลากับลูก มาหาลูก ว่ากี่วันต่ออาทิตย์ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่สามารทำตามกฎที่เราสองคนตั้งไว้ได้เลย มันเป็นสิ่งที่เรากำหนดขึ้นมา โดยที่ลูกไม่ต้องการ เมื่อลูกเริ่มเรียกร้องจากเรา เริ่มมีปฏิกิริยาจากเรา มักจะถามหาพ่อบ่อยครั้ง พ่อก็มาหาลูกบ้าง ลูกก็จะรู้สึกว่า ลูกยังมีพ่อ ลูกได้นอนกับพ่อ ลูกจะคอยพ่อกลับบ้าน เราก็จุกนะ สะอึกเลย ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เพราะลูกแสดงให้เห็นเลยว่า เขาต้องการให้เราสองคนคุยกัน และกลับมาอยู่ด้วยกัน แต่เราก็จะบอกลูกให้เข้าใจตามวัยของเขานะ”
“ช่วงใกล้นอน จะเป็นช่วงที่เขามีสมาธิ เราก็จะบอกว่า พ่อกับแม่รักกัน แต่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน พ่อกับแม่ต้องทำงาน เรามีความปรารถนาดีให้กันอยู่ แต่เรามีความสุขมากกว่าที่จะแยกกัน ซึ่งตัวเองจะไม่เอ่ยเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเรา กลัวว่าถ้าบอกไปจะกลายเป็นจุดด่างในใจลูก ยังไงเขาก็เป็นพ่อของลูก ถ้าลูกคิดไม่ดีกับพ่อ มันก็จะเป็นตัวหลอมในอนาคต รวมไปถึงปัญหาเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศด้วย” คุณแม่อธิบาย
“การตัดสินใจในการหย่าร้าง มันเป็นเรื่องใหญ่ของครอบครัว โดยเฉพาะลูก แม้ว่ายังมีคนเลือกที่จะทนเพื่อลูก อยู่เพื่อลูก แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรามีทางเลือกที่ดีกว่า หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การทะเลาะวิวาท เพราะความรุนแรงมักสร้างปมด้อยให้เด็กเยอะมาก หากคิดแต่เรื่องสังคม หรือการซุบซิบนินทาที่จะเกิดขึ้นหลังจากเลิกกัน ก็เหมือนว่าเราจะเอาชีวิตไปแขวนไว้กับคนอื่น กลัวคนอื่นประณาม สุดท้ายแล้วคงเข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน” ดังนั้นมันต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับลูกในระยะยาวค่ะ”
อ่านต่อความคิดเห็นของคุณหมอ ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลได้กล่าวถึงหนทางและวิธีในการบอกลูกเมื่อพ่อแม่หย่าร้างว่า
“มันขึ้นอยู่กับการดูแลของพ่อและแม่ เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กมักอยากรู้ว่าอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แม่กับพ่อทะเลาะกันใช่ไหม พ่อจะไม่อยู่กับเราเหรอ เป็นต้น การที่พ่อและแม่จะยุติการใช้ชีวิตร่วมกันนั้น
นอกจากจะเตรียมตัวเตรียมใจของตัวเองแล้ว ทั้งสองคนควรเตรียมให้ลูกด้วย ตำตอบที่จะบอกลูกนั้น ควรบอกตรง ๆ ไปเลยว่าเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่สาเหตุที่เลิกกัน เด็กไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด ยกเว้นลูกโตแล้ว เรื่องเลวร้ายไม่ใช่ส่วนที่ต้องเปิดเผยให้กระทบจิตใจลูก แต่ที่สำคัญคือ อย่าโกหก เพราะโกหกไปตลอดชีวิตไม่ได้ เช่น พ่อตายแล้ว แต่จริง ๆ ไม่ตาย หรือพ่อทำงานที่อื่น แต่เค้าไม่เคยกลับมา พอโตขึ้นเค้าก็รู้ว่าแม่โหก กลายเป็นว่าต้องมาแก้ไขปัญหานี้เพิ่มขึ้นอีก”
เด็กเล็กไม่เข้าใจคำว่า “หย่า” ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรบอกว่า พ่อไม่ได้อยู่กับลูก หนูอยู่กับแม่ 2 คน ในกรณีที่พ่อมาหาบ้าง แม่ควรบอกแค่ว่าเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่พ่อรักหนูมาก ซึ่งเงื่อนไขตัวนี้จะขึ้นอยู่กับแม่ ถ้าแม่ดูแลได้ดี เด็กจะพอใจ แต่คำถามนี้ขึ้นอยู่กับวัยของเด็กด้วย คำว่า ไม่อยู่ด้วยกันของพ่อแม่คืออะไร ถ้าลูกอายุประมาณ 6-7 ขวบ เขาจะเข้าใจค่อนข้างชัดเจน แต่เด็กเล็กจะรู้แค่ว่า การไม่ได้อยู่ด้วยกัน คือการไม่อยู่ชั่วคราวเท่านั้น
ในขณะที่เด็กวัยรุ่นอาจกลับมาถามว่า ทำไมถึงเลิกกัน สนใจเรื่องสัมพันธภาพ ทำไมผู้หญิงกับผู้ชายเลิกกัน อะไรที่ทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการเติบโตของเด็กค่ะ พญ.พรรณพิมล กล่าวทิ้งท้าย
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ ไม่โกหก และควรที่จะบอกความจริงกับลูกให้เข้าใจ โดยยึดถือตามความเหมาะสมและวัยของลูกเป็นหลักนั่นเอง
เครดิต: MGR Online
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- วิบากกรรมเรื่องชีวิตคู่ และวิธีแก้กรรมเพื่อให้ครอบครัวมีสุข
- 5 วิธีสร้างความอบอุ่น และผูกพันในครอบครัว