พบกับ 7 วิธี ป้องกันพี่อิจฉาน้อง ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นได้ที่นี่! พ่อแม่ที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปห้ามพลาด!
สำหรับครอบครัวไหนที่มีลูกมากกว่าสองคนขึ้นไป หรือกำลังจะมีในไม่ช้านี้นั้น ปัญหาหนึ่งที่จะต้องเจอเลยก็คือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง พี่อาจจะรู้สึกว่า ทำไมใคร ๆ ก็รักและเล่นแต่กับน้อง ไม่มีใครเลยที่จะให้ความสำคัญกับตัวเขาเอง ดังนั้น เนื้อหาที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะนำมาฝากในวันนี้ก็คือ 7 วิธี ป้องกันพี่อิจฉาน้อง และการกระชับความสัมพันธ์ให้พี่รู้สึกรักน้องแบบไม่มีนอยด์!
การต้อนรับน้องตัวเล็กสำหรับพี่ ๆ ที่เคยเป็นที่หนึ่งของบ้านนั้น อาจเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เกิดความกังวลใจว่าลูกจะสามารถปรับตัวได้หรือเปล่า จะเกิดความรู้สึกน้อยใจ อิจฉา หรือมีความรู้สึกขัดแย้งอื่น ๆ ที่ลูกคนโตต้องพบหรือไม่ ปัญหาที่ทุกครอบครัวต้องเผชิญ และปัญหานี้จะดีขึ้นและหมดไป หากคุณพ่อคุณแม่นำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติตาม
7 วิธี ป้องกันพี่อิจฉาน้อง แบบได้ผล!
วิธีแรก: ระวังคำพูด
ข้อนี้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนชอบทำ ยกตัวอย่างเช่น “แม่มีน้องใหม่เดี๋ยวก็ตกกระป๋องแล้ว” หรือ “อีกหน่อยแม่เขาก็ไม่เอาเราแล้วละ” คำพูดแบบนี้คือคำพูดแรกที่ไม่ควรพูดเป็นอย่างยิ่งเลยละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดเย้าแหย่ก็ตาม เด็กไม่ทราบหรอกค่ะว่า สิ่งที่คุณพูดนั้นคือการแกล้งด้วยความรักหรือเอ็นดู แต่เด็กจะฝังใจว่า อีกหน่อยพอน้องเกิดมา พ่อกับแม่ก็คงรักเขาน้อยลง นี่ละค่ะ! คือสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องให้ความสำคัญและระมัดระวัง เพราะคำพูดเหล่านี้อาจจะทำให้เด็กเสียความมั่นใจ คิดว่าความรักที่พ่อและแม่เคยมีให้ตัวเองเพียงคนเดียวนั้น กำลังจะต้องถูกแบ่งไปให้น้องอีกคน ดังนั้น วิธีการ ป้องกันพี่อิจฉาน้อง ที่ดีที่สุดก็คือ นึกถึงจิตใจลูก และระวังคำพูดที่เราจะพูดออกไปให้มาก ไม่ว่าคำพูดนั้นจะเป็นก่อนหรือหลังที่ลูกมีน้องแล้วก็ตาม
วิธีที่สอง: สร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่น้องยังไม่เกิด
เมื่อไรก็ตามที่เด็กที่เป็นลูกคนแรก กำลังรู้ว่าพวกเขากำลังจะมีน้อง ความรู้สึกแรกที่ลูกสามารถรับได้คือ ดีใจที่ตัวเองกำลังจะได้เป็นพี่ใหญ่ และไม่เป็นเบบี๋คนเล็กของบ้าน แถมมีเพื่อนเล่นด้วยอีกต่างหาก แต่เชื่อเถอะค่ะว่า พอลูกเริ่มคิดได้ หรือมีบางสิ่งบางอย่างทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังสนใจน้องที่อยู่ในท้องมากกว่าละก็ เมื่อนั้น ความรู้สึกน้อยใจ และความอิจฉาก็จะค่อย ๆ มีขึ้น … ซึ่งวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การดึงเอาลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับการตั้งครรภ์นั้นด้วยเสียเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ให้ลูกลูบท้องพูดคุยกับน้อง ให้ลูกช่วยทาครีมที่ท้องให้ ให้ลูกเล่านิทานก่อนนอนให้น้องฟัง เป็นต้น การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ละค่ะ ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ได้ดีที่สุด
วิธีที่สาม: ให้ลูกดูรูปของตัวเองตั้งแต่เป็นทารก
การให้ลูกได้เห็นรูปของตัวเองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ไล่มาเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ลูกลืมตาดูโลกนั้น ช่วยได้มากเลยนะคะคุณพ่อคุณแม่ เพราะลูกจะเรียนรู้ว่า เขาผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมาแล้ว และเขาก็กำลังจะเป็นพี่ใหญ่ ที่รู้เลยว่า น้องควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถอธิบายรูปภาพได้อีกนะคะว่า เมื่อก่อนตอนที่ลูกยังอยู่ในท้องนั้น ท้องของแม่ใหญ่กว่านี้จ้ะ เมื่อหนูเกิดมา หนูเลี้ยงไม่ยากเลย แต่ก็มีร้องไห้บ่อย ๆ เพราะยังไม่สามารถพูดคุยได้ ดังนั้น เมื่อน้องออกมา หนูต้องเข้าใจและไม่โกรธน้องนะคะ และหนูจะต้องช่วยคุณแม่ดูแลน้อง เหมือนกับที่คุณแม่ต้องเลี้ยงหนูมานะจ๊ะ เป็นต้น
วิธีที่สี่: ปลอบขวัญลูก
หลังจากที่คุณแม่คลอดน้องและพาน้องกลับมาพักฟื้นที่บ้านแล้วนั้น อันดับแรกที่คุณแม่จะต้องทำก็คือ รับขวัญลูกคนแรกด้วยการกอด หรืออาจจะมีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูก เพื่อที่ลูกจะได้ไม่รู้สึกน้อยใจว่า คุณแม่และคนรอบข้างเขาซื้อของให้แต่กับน้อง และไม่มีใครนึกถึงเขาเลย เป็นต้น วิธีนี้ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วย ป้องกันพี่อิจฉาน้อง ได้เป็นอย่างดีค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่ไม่อยากเสียเงินละก็ การกอด จูบ และบอกรักลูกบ่อย ๆ ก็ช่วยได้เยอะเช่นกัน
วิธีที่ห้า: มอบหมายให้ช่วยดูแลน้อง
การมอบหมายหน้าที่ให้ลูกคนโตช่วยเลี้ยงน้องนั้น ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้แน่นแฟ้นมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ซึ่งวิธีการมอบหมายหน้าที่ที่ว่านี้ก็ได้แก่ การช่วยคุณแม่เลือกหรือหยิบเสื้อผ้าที่จะให้น้องใส่ การช่วยคุณแม่หยิบหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อง การช่วยเป็นลูกมือให้คุณแม่ขณะที่อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าน้อง เป็นต้น วิธีนี้ นอกจากจะช่วยให้ลูกเลี้ยงน้องเป็นแล้ว ยังช่วยทำให้ลูกรู้สึกว่า เขาก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของครอบครัวได้เหมือนกัน
วิธีที่หก: หากิจกรรมให้ลูกทำ
หากลูกรู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อกับการเลี้ยงน้องแล้ว คุณแม่ก็ต้องปล่อยเขานะคะ อย่าไปบังคับให้ลูกรู้สึกว่า น้องมาแย่งเวลาทั้งหมดของเขาไป ทำให้เขาไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอะไรที่เขาอยากทำได้ ดังนั้น คุณแม่จะต้องปล่อยให้ลูกได้มีเวลาส่วนตัวของเขาด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยให้ลูกได้ออกกำลังกาย วาดภาพ อ่านนิทาน หรือเล่นของเล่นชิ้นโปรด เป็นต้น
วิธีที่เจ็ด: อย่าใช้อารมณ์
หากพบว่าลูกทำอะไรผิด หรือจู่ ๆ น้องร้องไห้ขณะที่อยู่กับลูกละก็ ขอให้คุณแม่งดการใช้อารมณ์ก่อนค่ะ อย่าเพิ่งต่อว่าลูกโดยยังไม่รู้สาเหตุว่า ลูกไปทำอะไรน้อง ๆ ถึงร้อง … เพราะการกระทำเหล่านี้ของคุณแม่นั้น จะเป็นการบั่นทอนความรู้สึกของลูกได้ดีที่สุด และจะทำให้ลูกพลอยเกลียดและอิจฉาน้องไปด้วย ดังนั้น ทางที่ดีใจเย็นแล้วถามลูกว่าที่น้องร้องนั้นเกิดอะไรขึ้น บางทีคำตอบที่ได้ อาจจะทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราอึ้งเอาได้เลยละค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะกับ 7 วิธีป้องกันพี่อิจฉาน้อง ที่ทีมงานนำมาฝากกันในวันนี้ … หากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ เชื่อเถอะค่ะว่า บ้านของคุณจะมีแต่ความสุข และคุณจะเห็นเลยว่า ลูกคนโตของคุณนั้น เป็นพี่ดีและรักน้องของเขามากมายขนาดไหน และเมื่อน้องโตขึ้น พี่น้องคู่นี้ก็อาจจะเป็นเพื่อนซี้อีกคู่หนึ่งที่พ่อแม่อย่างเราไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลยละค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่