3 หลักการสำคัญคุม ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ห้ามโขกแพงเกินจริง
1. ราคาโปร่งใส เป็นธรรม (Fair Price)
ให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการฯ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) และในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT)
กรณีที่โรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคา แต่หากไม่แจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง
2. ผู้บริโภคต้องมีทางเลือก (Consumers’ Choices) ดังนี้
- ให้โรงพยาบาลเอกชนแสดง QR Code ข้อมูลเปรียบเทียบราคาจำหน่ายยาที่กรมการค้าภายในจัดทำไว้อย่างเปิดเผย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก
- โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ
- ในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ใบสั่งยาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ ส่วนใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย
ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. การรักษาที่สมเหตุสมผล (Reasonable Treatment)
ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น และ/หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งหากเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากประกาศนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอุ่นใจเมื่อต้องพาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ไม่มากก็น้อยนะคะ เพราะนอกจากจะมั่นใจได้แล้วว่าจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาที่แพงเกินจริง ยังจะช่วยให้โรงพยาบาลตื่นตัว และแข่งขันกันให้บริการในราคาที่ถูกลง เพราะผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาได้แล้ว หากยังคิดราคาสูงอยู่ก็อาจเสียลูกค้าได้ และยังจะทำให้เบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยถูกลงด้วย ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาทำประกันเพื่อความมั่นคงของชีวิตมากขึ้น และจะช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลรักษาพยาบาลของภาครัฐได้อีกด้วย
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รวมโรงพยาบาลเอกชน ที่ให้สามีเข้าห้องคลอดได้
แม่ย้ำ! ลูกไม่สบาย ให้รีบหาหมอ!
โรคเด็ก ที่พบบ่อย โรคในเด็ก ยอดฮิต พ่อแม่ต้องระวัง
อันตราย!! 8 โรค ที่แถมมาจากโรงพยาบาล ต้องระวังโรคอะไรบ้าง?
ขอบคุณข้อมูลจาก : ThaiPBS, Sanook, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่