รู้จักจังหวัดลำพูน
เดิมชื่อเมืองหริภุญชัย มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันว่า ฤาษีวาสุเทพเกณฑ์พวกเม็งคบุตรหรือมอญมาสร้างเมืองนี้ ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง เมื่อสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา ได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมา ซึ่งเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือ พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์
1. อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
เมื่อมาถึงลำพูน ควรแวะมาไหว้สักการะพระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย หรือลำพูน เพื่อความเป็นสิริมงคล
ตั้งอยู่ บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร
2. ถนนคนเดิน เย็นวันศุกร์
อาจจะเหมือนกับถนนคนเดินที่อื่นๆ แต่ความต่างคือ ที่นี่คนไม่พลุกพล่าน อาหารอร่อย และถูกมาก คุณแม่ทั้งหลายระวังกระเป๋าสตางค์ตัวเองไว้ให้ดีๆ
เปิดบริการ ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.00 -21.00 น. บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เลียบลำน้ำกวง เริ่มต้นตั้งแต่ ศูนย์นักท่องเที่ยวเชิงสะพานท่าขามถึงประตูท่านาง
3. วัดจามเทวี
มีความเก่าแก่มากถึง 1,300 ปี โดยทั่วไปเรียกกันว่าวัดกู่กุด ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างตั้งแต่สมัยใด แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมน่าจะอยู่ในสมัยของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 หลังจากนั้นวัดนี้ก็ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง จนกระทั่ง พ.ศ. 2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อาราธนาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา มาช่วยก่อสร้างโบสถ์ วิหาร กุฏิ และบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด
ตั้งอยู่ ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน
4. พระธาตุหริภุญชัย
นอกจากจะเป็นพระธาตุแห่งแรกของภาคเหนือแล้ว ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร ปีระกา (ไก่) อีกด้วย
และด้วยความที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของลำพูน จึงมีคำกล่าวว่า หากใครไปลำพูน แล้วไม่ได้ไปกราบไหว้สักการะพระธาตุหริภุญชัย ถือว่ายังไปไม่ถึง สำหรับพระบรมธาตุหริภุญชัย ถูกสถาปนาขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 17 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
ตั้งอยู่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน
5. วัดมหาวันวนาราม
สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์และนำพระศิลามาประดิษฐานไว้ ต่อมาหริภุญไชยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤาษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้างพระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อใช้ออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือจึงบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมาเจดีย์บรรจุพระปรักหักพังลง ชาวบ้านพบพระเครื่องที่เก็บไว้ต่างนำไปบูชา และพบกับอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ซึ่งพระเครื่องเหล่านี้คือ พระรอดมหาวันอันโด่งดังนั่นเอง
ตั้งอยู่ ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถนนจามเทวี
บทความและภาพโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง