พ่อพาลูกฝาแฝด พรากไปจากอกยาย น่าสงสาร! หนูน้อยฝาแฝดร้องไห้จ้า.. ต้องจากยายที่เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด - amarinbabyandkids

พ่อพาลูกฝาแฝด พรากไปจากอกยาย น่าสงสาร! หนูน้อยฝาแฝดร้องไห้จ้า.. ต้องจากยายที่เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด

event

พ่อพาลูกฝาแฝด พรากไปจากอกยาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : แหม่มโพธิ์ดำ

พอดีคนรู้จักของฝ่ายพ่อที่เป็นลูกเพจควีนติดต่อมา ขอให้เพจให้ความเป็นธรรมกับฝั่งพ่อที่ถูกกระแสสังคมกดดันหนัก เมื่อสักครู่ทางควีนเลยได้มีโอกาสคุยกับคุณพ่อของน้องฝาแฝดและพี่ทนายวรยุทธ บุญวงศ์ใส เรียบร้อยแล้วค่ะ

เขาแจ้งว่าที่กระแสสังคมตำหนิว่าพวกเขาหายไปเจ็ดปีไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตั้งแต่แม่ของน้องเสียชีวิต พ่อก็พยายามขอลูกมาเลี้ยงเองตลอด แต่ทางยายก็ยื้อเพราะรักหลาน ห่วงหลาน จนเวลาล่วงเลยมาถึง 7 ปี ท้ายสุดพ่อเลยติดต่อพี่ทนายวรยุทธให้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งพี่ทนายก็เห็นใจยาย แต่มองว่าเพื่ออนาคตทางการศึกษาของเด็ก การไปอยู่กับพ่อน่าจะดีกว่า ยายก็ขอเวลาเพิ่มอีก 7 เดือนให้น้องจบป.1 ทางฝ่ายพ่อก็ตกลง

ซึ่งตอนนี้ถึงกำหนดแล้ว พ่อเขาเลยมารับตามนัด แต่ทางยายยังอาลัย ส่วนหลานก็รักยาย ก็ต้องร้องไห้เป็นปกติ ซึ่งพ่อยืนยันกับยายหลายครั้ง คิดถึงหลานเมื่อไหร่ก็แวะมาหาได้ มาเจอได้ตลอดไม่ได้กีดกัน แต่เขาก็รักลูกของเขาเช่นกัน อยากให้สังคมเห็นใจกันด้วยนะคะ ซึ่งวันเสาร์นี้พ่อและทนายจะออกรายการช่องคดีตีความ ช่องไทยวิชั่นค่ะ

อย่างไรก็ตามจากคำชี้แจงของฝ่ายพ่อ ที่ทางเพจ แหม่มโพธิ์ดำ ได้ เผยแพร่ออกมานั้น ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ผู้เป็นพ่อคงอยากจะบอกให้ประชาชนได้รับรู้ หลังจากที่เห็นคลิปวีดีโอ ทางฝ่ายของคุณยายและป้า ที่ได้ไปนำตัวลูกสาวฝาแฝดทั้งสองคนมาเทื่อ 3 วันก่อน

♦ กรณี “แม่ตาย” พ่อมีสิทธิในตัวลูกไหม! ยาย มีสิทธิเอาไปเลี้ยงหรือไม่?

ซึ่งเรื่องนี้ ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลคดีลักษณะนี้ไว้ว่า…

  • กรณีพ่อแม่ จดทะเบียนสมรสกัน

เมื่อแม่เสียชีวิตลง พ่อก็มีสิทธิในการปกครองบุตรทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 (1)

  • กรณีพ่อแม่ ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีจดทะเบียนการรับรองบุตร

เมื่อแม่เสียชีวิตลง พ่อก็มีสิทธิในการปกครอง

  • กรณีพ่อแม่ ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และไม่ได้จดรับรองบุตร

ประเด็นนี้ละต้องมีการต่อสู้คดีกันอย่างดุเดือด ผลงานคดีก็จะดูว่าเด็กอยู่กับใครแล้วมีโอกาสมากกว่ากัน

  • ส่วน ยาย หรือ แม่ของฝ่ายหญิง ถ้าจะมีโอกาสเลี้ยง

ก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1582 นั้นคือ การเพิกถอน การปกครองบุตร

1. ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครอง (พ่อ) เป็นคนไร้ความสามารถ

2. ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครอง (พ่อ) เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาล

3. ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครอง (พ่อ) ใช้อำนาจปกครอง เกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เช่น ทอดทิ้งบุตร ไม่สนใจเลี้ยงดู หรือ ไม่ให้การศึกษา เป็นต้น

4. ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครอง (พ่อ)  ใช้อำนาจปกครอง ประพฤติชั่วร้าย เช่น ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 

ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องไปยื่นคำฟ้องต่อศาล แต่เอาเข้าจริงๆ ลองพูดคุยกันดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลกฎหมายจาก ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ www.tanaiwirat.com

 

ในขณะที่ ทนายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุว่าถึงแม้ว่าเด็กจะไม่เคยเจอพ่อ แต่พ่อก็มีสิทธิตาม กม.ที่จะดูแลบุตร แต่ทั้งนี้ผู้เป็นพ่ออาจมีความผิดใน มาตรา 309 ความผิดต่อเสรีภาพใด ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้ กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องราวเล่านี้จะว่าด้วยเรื่องตัวบทกฎหมายในเรื่องสิทธิ์ของความเป็นพ่ออยู่ ก็สามารถใช้ได้ แต่ในทางด้านจิตใจแล้วไม่ว่าจะเป็นจิตใจของคุณยายคุณป้าที่เลี้ยงเด็กทั้งสองมา หรือจิตใจของน้องฝาแฝดทั้งสองที่ต้องถูกพรากไปจากอกของผู้ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิดไป ก็คงทำร้ายจิตใจมิใช่น้อยเช่นกัน แต่อย่างไรตามเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องภายในครอบครัวผู้อื่นและมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทาง Amarin Baby & Kids ก็ได้เพียงแต่เป็นกำลังใจและเอาใจช่วยให้น้องฝาแฝดทั้งสองคนอยู่ในที่ที่ควรอยู่ และมีความสุขนะคะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Eggnoid Thanapat Boonaree 

ขอบคุณข่าวจาก : www.khaosod.co.th , morning-news.bectero.com , www.tnews.co.th

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up