เช็กวิธีรักษา ผู้ป่วยโควิด แบ่งตามสี-สิทธิ UCEP Plus ฟรี
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอนก็ระบาดหนักจนทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ล้วนติดเชื้อสายพันธุ์นี้กันทั่วประเทศ การเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ก็มีหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ ล่าสุด ได้มีการออกกฎเกณฑ์วิธีการรักษา ผู้ป่วยโควิด ตามสิทธิ UCEP Plus แล้วค่ะ ผู้ป่วยสีไหนมีสิทธิอย่างไร รักษาด้วยวิธีใด เข้าโรงพยาบาลไหนได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่ต้องติดตาม
สิทธิ UCEP คืออะไร
UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่จนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยทั่วไปคนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิประกันสุขภาพจากภาครัฐไม่สิทธิใดก็สิทธิหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธินั้นๆ
UCEP Plus คืออะไร
UCEP พลัส คือ ระบบที่รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง ตามสิทธิ UCEP พลัสได้
ผู้ป่วยโควิด แบ่งตามสีและสิทธิ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กำหนดวิธีรักษาผู้ป่วยโควิดตามเกณฑ์อาการต่าง ๆ หรือตามสี แบ่งเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดง และตามสิทธิรักษาในโรงพยาบาล เพื่อรองรับสิทธิ UCEP Plus โดยเริ่มหลักเกณฑ์นี้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565
พิจารณาปรับจำนวนวันในการรักษา
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำนวนวันรักษาโควิด 19 ในโรงพยาบาล ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 10 วัน จะมีการหารือปรับลดเป็นลักษณะ 7 + 3 คือ รักษาในโรงพยาบาล 7 วัน และกลับไปแยกกักตัวที่บ้านต่ออีก 3 วัน เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโควิด 19 มากขึ้น แต่ทั้งนี้จะมีการพิจารณาบนหลักของความปลอดภัย
ทดลองใช้ยา โมลนูพิราเวียร์
ส่วนยารักษาโควิด 19 ‘โมลนูพิราเวียร์’ ที่นำเข้ามา จะมีการใช้ทั้งในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และคนทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบผลการใช้กับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งหากได้ผลดี ก็สามารถจัดหายาโมลนูพิราเวียร์จากแหล่งผลิตในจีนและอินเดียในราคาที่ใกล้เคียงกับยาฟาวิพิราเวียร์ได้
ผู้ป่วยโควิด แต่ละกลุ่มอาการและวิธีการรักษาตามสีและสิทธิ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดทำลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละกลุ่มอาการ ดังนี้
1.ผู้ป่วยสีเขียว หากคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยเป็นผู้ป่วยสีเขียว โดยมีอาการ ได้แก่ ไม่มีอาการ มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น ไอมีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว
กลุ่มนี้รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ ทั้ง บัตรทอง สิทธิข้าราชการ หรือประกันสังคม กรณีประกันสังคม หากทำงานต่างพื้นที่สามารถเข้า รพ.เครือข่ายสิทธิสุขภาพได้ , ทั้งนี้คนที่ใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากหน่วยบริการประจำตามสิทธิ ยังสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ใช้ใบส่งตัว ตามนโยบายยกระดับบัตรทองได้ด้วย เช่น หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
การรักษาด้วยการ กักตัวที่บ้าน HI ,ในชุมชน CI และโครงการ ‘เจอ แจก จบ’ ที่หน่วยบริการใกล้บ้านค่ะ
สอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ทาง :
• สปสช. 1330 กด 14
• ประกันสังคม 1506
• กรม สบส.1426
2.ผู้ป่วยสีเหลือง หากคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยเป็นผู้ป่วยสีเหลือง โดยมีอาการ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ไม่ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ อ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม
ส่วนวิธีการรักษา คือ รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ หรือ ตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งฟรี
สอบถามและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทาง :
• สปสช. 1330 กด 14 สำหรับติดต่อขอรับเตียง
• สพฉ. 1669
• กรม สบส. 1426 (ขอรับเตียงในระบบ1330)
• UCEP Plus 0-2872-1669
3.ผู้ป่วยสีแดง หากคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยเป็นผู้ป่วยสีแดง โดยมีอาการ หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสนานกว่า 24 ชั่วโมง และค่าออกซิเจนน้อยกว่า 94%
สามารถเข้ารับการรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ หรือตามเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง
สอบถามและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทาง :
• สปสช. 1330 กด 14 สำหรับติดต่อขอรับเตียง
• สพฉ. 1669
• กรม สบส. 1426 (ขอรับเตียงในระบบ1330)
• UCEP Plus 0-2872-1669
จากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ ลูกน้อย หรือคนรอบข้าง กลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือติดโควิด ก็สามารถแนะนำให้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาได้ด้วยหลักเกณฑ์นี้เลยค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก