“แม่ใจยักษ์ ทำร้ายได้กระทั่งลูกในไส้” คำพูดเล่านี้มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เวลามีข่าวแม่ทิ้งลูกแม่ทำร้ายลูกตัวเองปรากฎบนหน้าฟีดเฟสบุ๊ก หรือข่าวเด่นในทีวี จนทำให้เกิดคำถามว่าคนเป็น แม่ไม่รักลูก ตัวเองได้จริงหรือ แล้วอะไรทำให้ “แม่” ผู้ให้กำเนิด “เกลียดลูกตัวเอง” ได้ลงคอ มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ผิดไหมถ้า แม่ไม่รักลูก ตัวเอง
จากกรณีของ “แม่ปุ๊ก” ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียล เมื่อเธอโพสต์เรื่องราวน่าสงสารของลูกสาวและลูกชายของตัวเอง ในลักษณะบอกเล่าถึงอาการป่วยของลูกทั้งสองคนโดยอ้างว่าเป็นโรคประหลาด พร้อมกับขายสินค้ากึ่งรับบริจาคมาเป็นค่ารักษาพยาบาลที่สูงถึงหลักล้านบาท ซึ่งมีผู้ใจบุญมากมายเข้ามาช่วยเหลือแต่สุดท้ายก็ต้องเสียลูกสาวคนโตไป ส่วนลูกชายคนเล็กก็มีอาการคล้ายคลึงกับพี่และพบความผิดปกติหลายอย่างของผู้เป็นแม่ ทำให้คนในโลกโซเชียลตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่แม่ปุ๊กวางยาลูกทั้งสองคนเพื่อขอเงินบริจาค” จนเกิดความบาดหมางระหว่าง “แม่ปุ๊ก” กับ “ผู้ใจบุญ”กลายเป็นคดีความ
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของการสืบหาความจริง และหลังตรวจร่างกายหนูน้อยก็พบสารเคมีกัดกร่อนที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาซักฟอก จนทำให้เกิดแผลในปาก และอวัยวะภายในเสียหาย หลังสืบสวนพบว่าเป็นการหาผลประโยชน์จากเด็กอย่างชัดเจน ทั้งลูกสาวคนโตที่ไม่ใช่ลูกแท้ๆ และลูกชายคนเล็กที่เป็นสายเลือดของตัวเอง “แม่ปุ๊ก”ถูกจับกุมพร้อมความผิด 5 ข้อหา นำเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลต่อไป
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่แม่กระทำรุนแรงกับลูกตัวเอง สร้างความหดหู่ให้กับคนในสังคมพร้อมกับเกิดคำถามว่า แม่ไม่รักลูก ตัวเองได้ด้วยหรือ เพราะคนเป็นแม่ที่อุ้มท้องนานถึง 9 เดือน และเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด ให้กินนมจากอก อยู่ในอ้อมกอด และแม่คือคนที่ลูกรักมากที่สุด
มีจริงหรือ แม่ไม่รักลูก ตัวเอง
นี่เป็นคำถามบาดใจคุณแม่ และหากแม่คนไหนมีความคิดแบบนี้จะเป็น “ความผิดมหันต์” ที่ไม่อาจให้อภัยได้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม่ไม่รู้สึกรักลูกตัวเองมีอยู่จริง และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้แม่ทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอดที่ยังรู้สึกว่างเปล่าเมื่อเห็นหน้าลูกครั้งแรก บางคนใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกรักและผูกพันกับหนูน้อยในอ้อมกอด
แม้ระหว่างการตั้งครรภ์ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกจะถ่ายทอดผ่านสายสะดือ เสียงหัวใจ หรือกลิ่นตัวแม่ แต่คนเป็นแม่รับรู้ถึงตัวตนของลูกจากการดิ้น การพบหน้ากันครั้งแรกของแม่กับลูกจึงอาจไม่ใช่ การตกหลุมรักในทันทีแต่จะค่อยๆพัฒนาขึ้นหลังจากนั้นผ่านปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งการให้นม กล่อมนอน สบตา กอดหอม ซึ่งจะกระตุ้นฮอร์โมนอ๊อกซิโทซิน ในสมองให้สูงขึ้นก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่แข็งแรง ฮอร์โมนตัวนี้เองที่กระตุ้นให้น้ำนมไหลเมื่อลูกอยู่ใกล้แม่
อย่างไรก็ตามมีคุณแม่ราว 20 % ที่ไม่รู้สึกรัก ผูกพันหรือแม้กระทั่งอยากจะกอดลูก ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสระหว่างคลอด ระดับฮอร์โมนแปรปรวน ความเครียด ความไม่พร้อมของแม่ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น
แม่ไม่รักลูกตัวเองเป็นเพราะอะไรกันแน่
สัญชาตญาญความเป็นแม่ตามธรรมชาติจะกำหนดให้แม่ทุกคนรักและปกป้องลูกของตัวเองให้ปลอดภัย แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความรู้สึกรักของแม่น้อยลง หรือแทบไม่มีเหลือ จนกลายเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์สลดใจหลายครั้งที่เห็นในข่าว จากบทความเรื่อง WHY SOME PARENTS CAN’T LOVE THEIR CHILDREN โดย David Hosier MSc ระบุว่า แม่ไม่รักลูก เกิดจากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
- แม่ที่มีลูกตอนไม่พร้อม แม่วัยใส แม่เลี้ยงเดี่ยว คือกลุ่มคุณแม่ที่อาจรู้สึกไม่พอใจกับการต้องรับผิดชอบเลี้ยงลูก หรือมองว่าลูกคือภาระที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ
- แม่ที่เลิกรากับสามีด้วยความรู้สึกโกรธแค้น ผิดหวัง หากมีลูกที่หน้าตาคล้าย มีท่าทางหรือพฤติกรรมคล้ายมีสามีเก่า ทำให้แม่รู้สึกเกลียดลูกคนนั้นไปด้วย
- แม่บางคนรู้สึกว่าลูกมีความโดดเด่น หน้าตาดี ฉลาด หรือมีพฤติกรรมเป็นที่น่าสนใจเกินไป จนทำให้ตัวเองรู้สึกดูด้อยกว่า หรือบกพร่อง ส่วนใหญ่มักเกิดกับแม่ที่มีอุปนิสัยหลงตัวเอง
- แม่รู้สึกอิจฉาลูก เช่น แม่รู้สึกอิจฉาลูกสาววัยรุ่นที่สวยกว่า สาวกว่า
- แม่รู้สึกอับอายหรือผิดหวังกับพฤติกรรมของลูก เพราะทำให้ตัวเองถูกวิจารณ์หรือดูไม่ดีในวงสังคม
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพราะระดับสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงไป จึงมีอาการซึมเศร้า หม่นหมอง รู้สึกไม่อยากกอด ไม่อยากเลี้ยงลูก
- แม่ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจในวัยเด็กจึงแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกไม่เป็น
- แม่รู้สึกว่าลูกเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน หรือทำให้ต้องเปลี่ยนงาน
- ความเชื่อทางศาสนา หรือวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะ หรือเพศของเด็ก เช่น การยกย่องแม่ที่มีลูกชาย แต่ถ้าคลอดออกมาเป็นลูกสาว ทำให้แม่ไม่รัก
- แม่มีฐานะยากจน ชีวิตยากลำบากหลังมีลูก จึงใช้การกระทำหรือคำพูดรุนแรงกับลูก เพื่อซ่อนความรู้สึกเจ็บปวดในใจตัวเอง
ถ้ารู้สึกไม่รักลูกตัวเองต้องทำอย่างไร
เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้สิ่งแรกที่คุณแม่คววรทำคือ “อย่าโทษตัวเอง” ว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี เป็นแม่ที่แย่ เพราะนั่นยิ่งทำให้สภาพจิตใจของคุณแม่แย่ลง แต่ให้มองหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร หากเป็นคุณแม่หลังคลอดที่เพิ่งได้เห็นหน้าลูกไม่กี่วัน แต่ยังไม่รู้สึกรักผูกพัน ก็ให้ทำหน้าที่ของแม่ไปตามปกติ เช่น ให้นม อุ้มนอน กอดหอม เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดแม่ลูก ยิ่งแม่กับลูกอยู่ด้วยกันมากเท่าไร ความรู้สึกรักจะค่อยๆงอกงามขึ้นมาในไม่ช้า
แต่ถ้าพบว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า รู้สึกหดหู่ตลอดเวลา เสียใจง่าย หรือรุนแรงจนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ท้ายที่สุดแล้ว การแบ่งปันความรู้สึกกับคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็น สามี เพื่อนสนิท คุณยาย จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อคุณแม่ยิ้มได้ ลูกน้อยก็ยิ้มได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูล childhoodtraumarecovery.com www.dailynews.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่