ลูกวัย 1 ขวบเป็นโรคอีสุกอีใสมีวิธีดูแลอย่างไร และมีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษไหมคะ
โรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกับโรคงูสวัด หากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสครั้งแรกจะแสดงอาการของโรค แต่เมื่ออาการหายแล้ว เชื้อไวรัสจะหลบเข้าไปอยู่ที่ปมประสาทที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค หากต่อมาผู้นั้นมีระบบภูมิคุ้มกันชนิดอาศัยเซลล์เม็ดเลือดต่ำลง อาจมีการกระตุ้นให้เชื้อที่สงบอยู่แสดงอาการออกเป็นโรคงูสวัด คือ เป็นผื่นและตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นแถบตามแนวของเส้นประสาท
อาการ
ไข้ต่ำหรือสูง เป็นอยู่ 1 วันแล้วมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ใบหน้า แขนขา และหนังศีรษะ ส่วนน้อยอาจขึ้นที่ตาทำให้ตาอักเสบ หากขึ้นในปากทำให้เจ็บปากกินได้น้อย วันถัดมาจากตุ่มแดงจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสแล้วแห้งตกสะเก็ดภายใน 7 – 10 วัน ผู้ป่วยจะคันมาก หากเกาจะทำให้ตุ่มน้ำแตกและอักเสบติดเชื้อจนเป็นตุ่มหนองได้
หากไม่ติดเชื้อแทรกซ้อน เมื่อแผลหายจะไม่เป็นแผลเป็นและจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการเป็นโรคครั้งต่อไป แต่บางคนอาจสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่จึงมีโอกาสเป็นซ้ำได้ (แต่เมื่อเป็นครั้งที่สองอาการมักไม่มาก) หากเป็นผู้มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายจนเสียชีวิต เนื่องจากตับอักเสบ ไตอักเสบปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อน
การติดต่อ
โดยได้รับเชื้อไวรัสจากน้ำลายหรือละอองฝอยทางลมหายใจของผู้เป็นโรคเข้าทางเยื่อบุตาหรือทางเดินหายใจ หรือสัมผัสกับรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ป่วยแล้วมาสัมผัสกับเยื่อบุตาหรือทางเดินหายใจของผู้รับเชื้อ
ระยะฟักตัวหลังจากสัมผัสโรคจนแสดงอาการประมาณ2 – 3 สัปดาห์ ระยะแพร่เชื้อตั้งแต่หนึ่งวันก่อนผื่นขึ้นจนผื่นแห้งตกสะเก็ด (พบเชื้อไวรัสในสารคัดหลั่งของผู้เป็นโรค)
การป้องกันโรคสุกใส
ในอดีตยังไม่มีวัคซีนใช้เพื่อป้องกันการเป็นโรค แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคซึ่งสร้างภูมิคุ้มกันได้ 95 เปอร์เซ็นต์ (ฉีด 100 คน 95 คนไม่เป็นโรค อีก 5 คนมีโอกาสเป็นโรคได้ เพราะสร้างภูมิได้ไม่เต็มที่ แต่เป็นครั้งที่สองมักไม่รุนแรงเช่นกัน) และเมื่อไม่เป็นโรคสุกใสก็เท่ากับลดโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ด้วย เริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 1 – 12 ปี ฉีด 1 เข็ม ถ้าอายุ 13 ปีขึ้นไปต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน ห้ามฉีดในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเป็นวัคซีนตัวเป็นจึงอาจแบ่งตัวจนก่อโรคได้ในร่างกายของบุคคลดังกล่าว
ผลข้างเคียงของวัคซีน คือ อาจเจ็บ บวมแดงตรงตำแหน่งที่ฉีดเล็กน้อย อาจมีไข้ ตุ่มน้ำใสขึ้นตามตัวเล็กน้อยประมาณ 2 – 3 สัปดาห์หลังฉีด มักไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้เป็นโรค และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสผู้ป่วย
การรักษา
- ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้
แต่ห้ามให้ยาแอสไพรินเพราะอาจเกิดภาวะ Reye Syndrome ซึ่งเป็นอันตรายจนเสียชีวิตได้
- อาบน้ำได้ตามปกติ
งดการเล่นที่สกปรก เพื่อไม่ให้มีคราบสกปรกหมักหมมจนคันมาก เพราะอาจเกาจนติดเชื้อที่ผิวหนังได้ ในรายที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ต้องดูแลผิวหนังเป็นพิเศษ เพราะจะคันมากกว่าคนทั่วไป
- ตัดเล็บลูกให้สั้น
หากมีอาการคันให้ใช้วิธีลูบเบาๆ และประคบเย็นบ่อยๆ หรือทาคาลาไมด์โลชั่น (ไม่ใช้ Caladryl เนื่องจากอาจแพ้สารแก้คันที่ผสมอยู่) ถ้ามีอาการคันมากอาจให้ทานยาต้านฮิสทามีนแก้คันได้ เช่น Atarax ขนาดยาคือ 2.5 ซีซี / 10 กิโลกรัม วันละ 3 เวลา
- หยุดเรียนหรือเล่นกับเด็กอื่น
เพราะอาจแพร่เชื้อให้กับผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจนเกิดอาการที่รุนแรง จนกว่าแผลจะตกสะเก็ดจนครบทุกแผล
รีบพาลูกไปพบหมอ ถ้า…
- ลูกเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หรือได้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ และมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้เป็นโรคสุกใส เพื่อหมอจะได้ให้ยา Immunoglobulin ป้องกันไม่ให้เป็นโรคหรือหากมีอาการของโรคแล้ว จะให้ยาต้านไวรัสAcyclovir เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค
- ลูกเป็นเด็กโต
มีตุ่มเป็นจำนวนมาก มีไข้หลายวัน มีอาการซึม กินได้น้อย ไอ หอบเหนื่อย ตาเหลืองตัวเหลือง ปัสสาวะออกน้อยควรรีบพาลูกพบหมอโดยเร็วเพื่อการดูแลภาวะแทรกซ้อนและให้ยาต้านเชื้อไวรัส
- ลูกมีอาการตาแดงหรือเจ็บตา
ให้รีบพาไปพบหมอตา รับยาหยอดตาเพื่อกำจัดเชื้อ มิฉะนั้นอาจมีปัญหาเป็นแผลที่กระจกตา ทำให้ตามัวหรือตาบอดได้
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด