อธิบดีกรมการแพทย์เผยว่า อันตรายจากโรคลมชักเป็นเหตุให้เกิดภาวะทุพพลภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาผู้ป่วยอาจเกิดอาการผิดปกติจนไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ เรามาทำความรู้จักกับโรคลมชักและวิธีดูแลหากลูกน้อยเกิดอาการชักกันดีกว่าค่ะ
โรคลมชักคืออะไร
โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบมาก และเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพพลภาพ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งตนเองและผู้อื่นได้หากผู้ป่วยเกิดอาการชักระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ โรคลมชักจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน
โรคลมชักเกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน โดยมีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมกันจากจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้งหมด
สาเหตุของอาการชัก
อาการชักเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ป่วยที่มีอาการชักอาจไม่เป็นโรคลมชักเสมอไป
- จากปัจจัยกระตุ้น เช่น ไข้ อดนอน ดื่มหรือหยุดแอลกอฮอล์ แสงกระพริบ เสียงดัง ความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจที่รุนแรง และการมีรอบเดือน เป็นต้น
- จากอาการเจ็บป่วย เช่น การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุต่อสมองระยะเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน ความผิดปกติทางเมตาโบลิก หรือมีไข้สูงในเด็ก เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น สูงอายุ ชักแบบภาวะชักต่อเนื่องเกร็งกระตุกทั้งตัว และเปลี่ยนไปเป็นกระตุกเล็กน้อยหรือกระตุกเฉพาะที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีพยาธิสภาพเฉียบพลันในสมอง เช่น สมองขาดออกซิเจน การบาดเจ็บสมอง การเป็นพิษต่อสมอง ชักต่อเนื่องนานกว่า 60 นาที รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อน
หลักการรักษา
ต้องรักษาผู้ป่วยให้หยุดชักก่อนกลายเป็นภาวะชักต่อเนื่อง โดยปฏิบัติดังนี้
- หยุดอาการชักให้เร็วที่สุด
- ป้องกันการชักซ้ำ
- บำบัดหรือกำจัดสาเหตุที่แก้ไขได้
- ป้องกันและบำบัดภาวะแทรกซ้อน
การดูแลผู้ป่วยหากเกิดอาการชัก
- ควรเปิดทางหายใจให้โล่ง จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนหงายและตะแคงหน้า
- นำอาหารหรือฟันปลอมที่มีอยู่ในปากออก
- คลายเสื้อผ้าให้หลวมให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก
- ให้ผู้ป่วยนอนในที่ปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากส่วนของร่างกายกระแทกกับของแข็ง
- ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือ วัตถุใด ๆ สอดเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วยขณะเกร็งกัดฟัน เพราะอาจเกิดอันตรายฟันหักตกลงไปอุดหลอดลมได้
- หากมีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายเกิน 38 องศาเซลเซียส) ให้เช็ดตัวลดไข้ ห้ามให้ยากินเพราะอาจสำลักได้ และโทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
ทั้งนี้ โรคนี้ป้องกันและรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีรับมือกับอาการชักในกรณีฉุกเฉินนะคะ ปลอดภัยไว้ก่อน 🙂
ขอบคุณข้อมูลจาก นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ และฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ RealParents.tv
ภาพ shutterstock