กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ทำอาหารเช้าให้ลูกทานก่อนไปเรียน กับ 7 เมนูง่าย ๆ ครบ 5 หมู่ ย้ำการงดทาน อาหารเช้าสำหรับเด็ก อาจทำให้เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็น
7 เมนู “อาหารเช้าสำหรับเด็ก” ในวัยเรียน สูตรทำง่ายครบ 5 หมู่
อย่างที่ทราบกันดีว่ามื้อเช้า เป็นมื้อที่สำคัญที่สุด แต่ด้วยเวลาที่เร่งรีบ อาจทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าให้ลูก หรืออาจให้ลูกทานอาหารที่ทานง่าย ซึ่งอาหารสะดวกซื้อที่ขายอยู่ทั่วไป มักไม่ถูกหลักโภชนาการ ทำให้เด็กซึ่งอยู่ในวัยที่ควรได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการเสริมสร้างร่ายกายให้เจริญเติบโต กลับได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแทน ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ได้เล็งเห็นปัญหานี้ จึงได้แนะนำ 7 ชุดเมนูอาหารเช้า ให้พ่อแม่ทำให้ลูกทานก่อนไปเรียน ดังนี้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเปิดเทอมหลาย ๆ ครอบครัว พ่อแม่อาจจะรีบออกจากบ้าน จนไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าสำหรับลูก ซึ่งผลการสำรวจพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กวัยเรียนของกรมอนามัย ปี 2560 พบว่า เด็กอายุ 10 ปี กินอาหารเช้าทุกวัน ร้อยละ 66.9 ส่วนเด็กอายุ 12 ปี เพียงร้อยละ 54.7 โดยกินอาหารครบทั้ง 3 มื้อ ในเด็กอายุ 10 ปี และ 12 ปี ร้อยละ 47.4 และ 33.2 ตามลำดับ ซึ่งการกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการคือ ควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะช่วงระยะเวลาระหว่างอาหารเย็นถึงเช้า แม้จะเป็นช่วงเวลาที่นอนหลับพักผ่อน แต่ร่างกายก็ยังเผาผลาญสารอาหารตามปกติ ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง หากเด็กไม่กินอาหารเช้าเพิ่มเข้าไป ร่างกายจะไปดึงสารอาหารสะสมสำรองในยามจำเป็นมาใช้แทน ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่มีสมาธิในการเรียน อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้ เนื่องจากสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และการงดกินอาหารมื้อเช้าอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
อาหารเช้าสำหรับเด็ก ที่เหมาะสมควรให้พลังงาน 400-450 กิโลแคลอรี่
“โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ยังเจริญเติบโตมีความต้องการพลังงานและสารอาหารมากกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องสร้างนิสัยการกินอาหารเช้าของเด็ก โดยกินร่วมกับเด็ก ไม่ควรเร่งรีบ หรือกดดันลูกเวลากินข้าวเช้าหรืออาจเตรียมเป็นเมนูอาหารที่กินระหว่างเดินทางได้ และควรให้กินอาหารเช้าเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำทุกเช้า ซึ่งอาหารเช้าที่เหมาะสมควรให้พลังงานประมาณ 400-450 กิโลแคลอรี ครบ 5 หมู่ หลากหลาย ถูกหลักโภชนาการ และเตรียมได้ง่าย หรืออาจปรุงอาหารพร้อมมื้อค่ำ โดยเก็บในตู้เย็นพร้อมอุ่นกินในมื้อเช้า สำหรับกลุ่มวัยอื่น ๆ การกินอาหารเช้าจะช่วยใน การควบคุมน้ำหนักได้เพราะหลังจากกินมื้อเย็นจนถึงเช้าวันใหม่ ร่างกายอดอาหารมานานเกือบ 12 ชั่วโมง หากไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ระบบเผาผลาญเริ่มต้นช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ร่างกายรู้สึกหิวอยู่ตลอดทั้งวันทำให้บริโภคในมื้อถัดไปในปริมาณมากเกินความต้องการจนส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่