โรคหัวใจถือว่าเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ และสาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้มาจากการไม่ดูแลสุขภาพและโภชนาการ มาดูแลตั้งแต่เนิ่นๆด้วยสมุนไพรไทยๆ ที่จะช่วย ป้องกัน โรคหัวใจ กันค่ะ
โรคหัวใจ คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ เพราะเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันเยอะ แต่ไม่รู้ตัวและไม่ได้เข้ารับการรักษา ซึ่งโรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตของเรา เช่น พฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ความเครียด และการขาดการออกกำลังกาย แต่อย่างไรก็ตามโรคหัวใจ ก็สามารถป้องกันได้ค่ะ โดยเราต้องทำตัวเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือจะใช้สมุนไพรจากธรรมชาติบำรุงก็ได้
โรคหัวใจในเด็ก กับ 6 ผักก้นครัว ป้องกัน โรคหัวใจ
โรคหัวใจในเด็ก ส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดย นพ. สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ ผู้มีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคหัวใจในเด็กมากว่า 20 ปี ได้อธิบายว่า…
มาจากการที่แม่มีความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เป็นหัดเยอรมัน หรือติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และการใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เด็กเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจตั้งแต่กำเนิด สำหรับอุบัติการณ์นั้น สถิติของประเทศไทยก็เหมือนกับทั่วโลก กล่าวคือ เด็กที่เกิดใหม่จำนวน 1,000 คน จะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ในประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ที่มีปัญหาโรคหัวใจปีละประมาณ 8,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีประมาณร้อยละ 50 ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคหัวใจเด็กที่พบบ่อย
โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เป็นคำเรียกรวมความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหลายประการที่เกิดกับผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อยที่สุด มีดังนี้
- ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (Atrial Septal Defect – ASD) ผลจากการที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องบน ทำให้เลือดไหลผ่านจากหัวใจห้องบนซ้ายผ่านรูรั่วไปห้องบนขวา ตรวจพบได้จากเสียงฟู่ที่หัวใจและผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ส่วนใหญ่มักถูกตรวจพบโดยบังเอิญ
- ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect – VSD) มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่าง ทำให้เลือดแดงจากหัวใจห้องล่างซ้ายผ่านรูรั่วไปยังห้องล่างขวา ออกสู่หลอดเลือดแดงของปอด ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปยังปอดมีมากขึ้น ปริมาณเลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่งผลให้หัวใจห้องซ้ายทำงานมากขึ้นจนหัวใจวายได้
- มีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจใหญ่ทั้งสองเส้น (Patent Ductus Arteriosus – PDA) ทารกแรกเกิดทุกคนจะมีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจสองเส้น (Aorta และ Pulmonary Artery) และจะปิดเองภายในหนึ่งชั่วโมงหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ในกรณีผิดปกติช่องเปิดนี้จะไม่ปิด ส่งผลให้เลือดแดงกับเลือดดำผสมกัน ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
- มีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่างร่วมกับหลอดเลือดหัวใจที่จะไปยังปอดตีบหรือลิ้นหัวใจตีบ (Tetralogy of Fallot – TOF) เป็นโรคชนิดซับซ้อนที่พบบ่อยที่สุดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ปกติแล้วหัวใจจะส่งเลือดไปยังปอดเพื่อเอาเลือดไปฟอกให้มีออกซิเจนมากขึ้น แต่กรณีนี้ลิ้นหัวใจตีบหรือหลอดเลือดเล็กกว่าปกติ เป็นเหตุให้เลือดที่จะต้องถูกส่งไปฟอกที่ปอดมีน้อยกว่าปกติ จึงรั่วผ่านผนังห้องหัวใจไปออกทางด้านซ้ายและเอาไปเลี้ยงร่างกายต่อ กลายเป็นว่าเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายเป็นเลือดดำ เด็กจึงมีภาวะเขียว
- ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาตีบ (Pulmonary Valve Stenosis) เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาเปิดไม่เต็มที่เนื่องจากหนาตัว แข็ง หรือเชื่อมประสานกันอย่างผิดปกติ ทำให้หัวใจต้องทำงานมากกว่าเดิม
อ่านต่อ >> “อาหาร บำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีไว้ติดครัวก็ดี” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่