วิธีทำ อาหารเสริมทารก
ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบและเตรียม อาหารเสริมทารก
- ควรเลือกผักออร์แกนิกจะได้สารพิษน้อยหน่อย ควรแช่น้ำยาล้างสารพิษ เช่น เบคกิ้งโซดา หรือ น้ำเกลือ หรือ น้ำยาแช่ผัก
- ข้าวกล้องมักจะสุกช้า จึงควรแช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชม.จึงค่อยต้มให้สุกด้วยน้ำเปล่า หรือ น้ำซุปผัก
- เนื้อสัตว์ ควรเริ่มป้อนในเดือนที่ 7 ควรเริ่มที่ ไก่ หมู ปลาน้ำจืด (เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาคัง ปลาตะเพียน) ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (สุกเต็มที่เท่านั้น)
- ไม่ควรเริ่มป้อนอาหารทะเลและไข่ขาวก่อน 1 ขวบ เพราะเสี่ยงต่อการแพ้อาหารได้ง่าย และหากเริ่มเร็วเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้
- ผลไม้และน้ำผลไม้ ควรเริ่มในเดือนที่ 7 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดหวานก่อนรู้จักรสชาติของผัก ผลไม้ที่แนะนำ คือ แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก
- สำหรับผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี สัปปะรด มะเขือเทศ บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย
ขั้นตอนการปรุง อาหารเสริมทารก
- ต้มข้าวกล้อง (หรือข้าวขาว) กับน้ำซุปหรือน้ำเปล่า โดยน้ำซุปที่ใช้ปรุงอาหาร ไม่แนะนำให้ใช้น้ำต้มกระดูกหมู เพราะจะได้ไขมันจากสัตว์เข้าไปด้วย
- เมื่อข้าวสุกแล้วใส่ผักที่ล้างสะอาดแล้วลงไป
- ใส่เนื้อสัตว์ลงไป
- ปรุงรสชาติเล็กน้อย โดยไม่ควรปรุงรสด้วยซี่อิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะจะทำให้ลูกติดรสชาติ ไม่ดีกับสุขภาพ แต่ให้ใส่เกลือไอโอดีนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขาดสารไอโอดีน ไม่ใช่ใส่เพื่อให้มีรสชาติ
เมื่ออาหารที่ต้องการให้ลูกทานสุกและนิ่มกำลังดีแล้ว ควรบดอาหารให้ละเอียดหรือหยาบตามวัยของลูกดังนี้
- อายุ 6-7 เดือน ให้บดอาหารให้ละเอียด โดยปั่นละเอียด หรือครูดผ่านกระชอน ป้อนวันละมื้อเดียว หัดให้ลูกกินน้ำจากถ้วยหรือหลอดดูด หรือ ช้อนตักน้ำป้อนเวลากินข้าวแล้วฝืดคอ ในวันแรก เริ่มป้อนเพียง 1 ชต. แล้วตามด้วยนมแม่จนอิ่ม ค่อย ๆ เพิ่มวันละ 1 ชต. แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน อย่าบังคับ ให้หยุดป้อน แล้วค่อยให้ใหม่วันต่อมา จนกินได้ครบมื้อ ปริมาณ 5-8 ชต. นมมื้อนั้น
- เดือนที่ 7 เริ่มผลไม้ปั่นละเอียดและเติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอและไม่หวานเกินไป เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 3-4 ชต.
- เดือนที่ 8 – 9 ให้เพิ่มข้าวเป็น สองมื้อ เริ่มป้อนอาหารเนื้อหยาบขึ้น คือ ไม่บดละเอียด แต่ตุ๋นให้นุ่ม เวลาป้อนให้ใช้หลังช้อนบด แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่
- อายุ 11-12 เดือน ป้อนอาหารได้ 3 มื้อ และเริ่มทำอาหารแบบไม่ต้องตุ๋น เพียงแค่ต้ม แล้วดูว่าลูกกินได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มกินข้าวสวย และข้าวเหนียวได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เริ่มปรุงรสอ่อน ๆ ได้ แต่ต้องดูด้วยว่า ไม่มีปัญหาท้องผูก หรือ ถ่ายออกมาเป็นอาหารไม่ย่อย เนื่องจากการกินอาหารที่หยาบมากขึ้น
7 เคล็ดลับ ป้อนอาหารเสริมมื้อแรกให้สำเร็จ
- ให้ลูกนั่งบนเก้าอี้สำหรับทานอาหารแทนการอุ้มป้อน เพื่อให้ลูกรู้สึกแปลกใหม่และรับรู้ว่าเมื่อทานอาหารควรนั่งที่เก้าอี้
- ช้อนที่ใช้ป้อนอาหารควรเป็นช้อนที่มีปลายนิ่มเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บเหงือก
- ปริมาณอาหารในแต่ละคำ ไม่ควรเป็นคำใหญ่ เพราะลูกอาจสำลักและไม่อยากทานอาหารได้
- หากลูกไม่ยอมทาน ให้หยุดป้อน แล้วนำอาหารให้ลูกดมเพื่อให้คุ้นชินกับกลิ่นอาหาร และลองป้อนใหม่ในวันต่อไป
- ผสมนมแม่ลงในอาหาร เพื่อให้ลูกคุ้นกับรสชาติ
- ไม่ควรให้อาหารเมื่อลูกเหนื่อย หรือ หิวมาก ๆ เพราะจะทำให้ลูกงอแง พาลไม่ยอมกินอาหาร และไม่ควรให้อาหารหลังมื้อนม เพราะลูกจะอิ่มและไม่อยากทานอาหาร
- ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่าแพ้อาหารหรือไม่ ควรให้กินมื้อเช้า หรือ กลางวัน เพราะหากป้อนมื้อเย็น แล้วมีปัญหาแพ้อาหาร ลูกอาจมีอาการผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งสังเกตอาการได้ยากและต้องไปโรงพยาบาลเวลาฉุกเฉิน แต่ถ้าหากทราบว่า ไม่มีอาการแพ้ อาจเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นเวลาเย็น อาจมีประโยชน์ในแง่ อาหารทำให้อิ่มนานขึ้น ลูกอาจหลับได้ยาวขึ้น
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
7 สัญญาณ ลูกพร้อมกิน “อาหารเสริมเด็ก-ทารก”
อาหารก่อภูมิแพ้ 8 ชนิดที่พ่อแม่ควรระวัง
เด็กป่วยภูมิแพ้เฮ!! ศิริราชผลิต “วัคซีนไรฝุ่น” สำเร็จ
3 สูตร อาหารเด็ก “ข้าวต้ม ข้าวตุ๋น น้ำสต๊อก” เพื่อลูกวัย 6-9 เดือน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, www.babycenter.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่