ภาวะซีดในทารก อายุ 6 เดือนขึ้นไป เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การให้ลูกกินยาเสริมธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่หายขาดและมีโอกาสกลับมาซีดใหม่ได้อีก ดังนั้นจึงต้องแก้ที่สาเหตุ และควบคู่ไปกับการมีความรู้เรื่องอาหารเสริมที่ถูกต้องสำหรับลูกน้อยค่ะ
ค้นหาสาเหตุ ภาวะซีดในทารก
“ลูกชายวัย 9 เดือน ถูกเจาะเลือดตรวจร่างกาย แล้วคุณหมอให้ยาน้ำที่เป็นธาตุเหล็กมาป้อนลูกทุกวัน จึงอยากถามคุณหมอว่า ลูกชายเป็นโลหิตจางหรือไม่ การขาดธาตุเหล็กอันตรายหรือไม่ และมีสาเหตุมาจากอะไรคะ”
ภาวะซีดหรือโลหิตจาง คือการที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปใช้เกณฑ์ฮีมาโทคริตน้อยกว่า 33% หรือฮีโมโกลบินน้อยกว่า 11gm/dl จึงจะมีภาวะซีดหรือโลหิตจางค่ะ
การวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้ซีดต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและการตรวจเลือด เพราะหากไม่แก้ที่สาเหตุให้การรักษาโดยเสริมยาธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว จะไม่หายขาดมีโอกาสกลับมาซีดใหม่ได้อีก
สาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กสามารถขาดธาตุเหล็ก ได้แก่
- เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์
- การทานนมวัวหรือนมผงที่ไม่เสริมธาตุเหล็ก
- การทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
- เป็นเด็กทานข้าวยากหรือเป็นเด็กเลือกทานทำให้ไม่ได้รับอาหารเสริมตามวัยอย่างเหมาะสม
- มีภาวะเสียเลือดซ่อนเร้น เช่น แผลในลำไส้เนื่องจากแพ้อาหารกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคพยาธิปากขอ
เด็กที่เป็นโลหิตจาง มีอาการอย่างไร
อาการของผู้มีปัญหาโลหิตจางแตกต่างกันขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิด โดยสามารถสังเกตได้ตั้งแต่
- ผิวหนังซีด เยื่อบุตา เล็บมือ ฝ่ามือ เหงือก ใบหู
- เล็บมีความผิดรูปงอเป็นรูปช้อน
- เริ่มมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องอืดอาหารไม่ย่อย
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- หัวใจเต้นแรง ชีพจรเร็วปลายมือปลายเท้าเย็น
- เหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือดูดนม อ่อนเพลีย ใจสั่น
- หงุดหงิด ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
- อาจมีพฤติกรรมและพัฒนาการผิดปกติ ผลการเรียนด้อยลง
- มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายเนื่องจากหัวใจทำงานหนักมากขึ้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีการรักษาภาวะโลหิตจาง เมื่อลูกซีด เพราะขาดธาตุเหล็ก
1.ให้ลูกทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักใบเขียว คินัว ไข่แดง เลือดหมูเลือดไก่ ตับ เครื่องใน เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง
2.เสริมด้วยอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีเพื่อช่วยในการดูดซึมเหล็ก เช่น บรอกโคลี่ ฝรั่ง ลิ้นจี่ เงาะ ส้ม สตรอเบอร์รี่ มะละกอ สับปะรด
3.การทานยาเสริมธาตุเหล็ก โดยปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาเสมอควรหยอดยาเข้าไปที่โคนลิ้นเพื่อไม่ให้ยาติดเป็นคราบดำที่ฟันเมื่อได้ยาธาตุเหล็ก เด็กอาจมีอุจจาระเป็นสีดำ อาจมีอาการคลื่นไส้ปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสีย ดังนั้น ควรกินยานี้หลังอาหาร เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว แต่อย่ากินพร้อมนม เพราะแคลเซียมในนมจะไปลดการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย
แม่ควรรู้! นมแม่หลัง 6 เดือนมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ลูกต้องการธาตุเหล็กจากอาหารเพิ่มเติม
คุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้เรื่องอาหารเสริมที่ถูกต้องสำหรับลูก หากคุณแม่ไม่มีปัญหาขาดธาตุเหล็ก ในน้ำนมของแม่จะมีธาตุเหล็กอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพียงพอจนกระทั่งลูกอายุ 6 เดือน หลังจากลูก 6 เดือนเป็นต้นไป ลูกจะต้องการธาตุเหล็กเพิ่มเติมจากอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง คุณแม่ควรเสริมอาหารที่มีโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ ให้กับลูกค่ะ
บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559