เมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป ก็ถึงเวลาที่ลูกจะต้องปรับการรับประทานอาหาร โดยเพิ่มอาหารชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมจากนมแม่ สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อ คุณแม่มักเป็นกังวลคือห่วงว่าลูกจะรับประทานอาหารติดคอ บางคนจึงให้ลูกน้อยรับประทานแต่ของเหลว จนอาจทำให้ ลูกไม่เคี้ยวข้าว ในอนาคตได้
การให้เด็กๆ รับประทานแต่อาหารเหลว หรือน้ำ เพราะห่วงว่าลูกน้อยจะติดคอนั้น เป็นความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการการบดเคี้ยวของลูกน้อยได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและนักโภชนาการต่างย้ำเสมอว่า ต้องปรับให้ลูกน้อยได้รับอาหารที่มีเนื้อหยาบขึ้นเรื่อยๆ ตามวัยที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ฟัน และฝึกการบดเคี้ยว จนสามารถรับประทานอาหารชนิดแข็งได้ เพราะการเคี้ยวอาหารเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ที่ควรจะฝึกก่อน 1 ขวบ หากช้ากว่านั้นอาจต้องใช้ความอดทนในการฝึก และใช้เวลามาก
ลูกไม่เคี้ยวข้าว แก้ได้ยังไง?
1. เข้าใจ
การที่ลูกไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้นั้น ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เกิดจากลูกไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อน ช่วงแรกของการฝึก หากลูกยังไม่ยอมเคี้ยว หรือบ้วนทิ้งนั่นก็เพราะอาจจะไม่คุ้นกับรสสัมผัสแบบใหม่ หรือเขาไม่ชอบเคี้ยว ดังนั้นช่วงแรกๆ ควรจัดอาหารชนิดเดิมประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้ลูกคุ้นเคยก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนชนิดอาหาร เช่น ปกติลูกกินแต่โจ๊ก คุณแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นข้าวต้มกับเนื้อสัตว์เพียงชนิดเดียวก่อน แล้วเปลี่ยนชนิดของเนื้อสัตว์ จนลูกคุ้นกับข้าวต้มจึงค่อยเปลี่ยนเป็นข้าวสวยตามลำดับ

ลูกไม่เคี้ยวข้าวกลืนอย่างเดียว ทำไงดี? (ต่อ)
2. ให้มีส่วนร่วม
ลูกในวัยนี้เริ่มทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้แล้ว และบอกความต้องการของตัวเองได้บ้าง เขาควรได้โอกาสมีส่วนร่วมในกิจวัตรประจำวันของเขา หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกรับประทานอาหารบนเก้าอี้ แล้วป้อนให้เสร็จๆ ไป อาจทำให้ช่วงเวลาในการรับประทานอาหารของลูกไม่มีความสุข ลองเปลี่ยนเป็นชวนลูกไปเลือกจานชาม ถือช้อนเอง ตักกับข้าวบ้าง ต้องเลอะเทอะและเหนื่อยเก็บเช็ดกันบ้าง แต่แลกกับลูกรู้สึกดีกับการรับประทาน และไม่ต้องเสียน้ำตากันเวลารับประทานข้าวอีกด้วย

3. ให้กำลังใจ
ในการฝึกไม่ว่าเรื่องใดๆ การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าในระยะแรก ลูกจะรับประทานได้น้อย ทำหกบ้างสำลักบ้าง การทำท่าตกใจหรือดุลูก เขาอาจไม่ทำอีกหรือยิ่งร้องไห้หนักให้หัวเสียกันไปหมด คำพูดให้กำลังใจใช้ได้เสมอ เช่น “ไม่เป็นไร ลองใหม่นะ” “คำนี้เล็กหน่อย เคี้ยวได้แน่” และเมื่อลูกเริ่มรับประทานได้ก็อย่าขาดคำชม “เคี้ยวแล้ว ทำได้นี่เรา เห็นแล้วชื่นใจ” บอกความรู้สึกว่าเขาทำให้คุณดีใจขนาดไหน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าตัวเล็ก

4. หักดิบ
วิธีนี้อาจจะโหดไปหน่อย แต่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ใจแข็งพอ จัดเมนูที่เนื้ออาหารเป็นชิ้น เป็นคำ หยาบขึ้นทุกมื้อ และถ้าลูกไม่รับประทาน หรือเอาแต่อมลูกเดียวก็ไม่ต้องป้อนต่อ ให้เก็บอาหารเมื่อถึงเวลา โดยไม่มีอาหารว่าง หรือของกินเล่น แล้วรอเสิร์ฟมื้อต่อไป (คุณแม่รู้หรือไม่ว่าเจ้าตัวน้อยสามารถอดอาหารได้นานถึง 2 วันเชียวนะ) เชื่อว่าถ้าเขาหิวและไม่มีตัวเลือกอื่นจะไม่ยอมรับประทาน หรือไม่ยอมเคี้ยวได้อย่างไร

5. ปรึกษาคุณหมอ
ถ้าลูกของคุณพ่อ คุณแม่ผ่านการฝึกมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมเคี้ยวสักที แถมมีอาการสำลักทุกครั้งที่ป้อนอาหารหยาบ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน แบบนี้แนะนำให้พาลูกน้อยไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ดีกว่าค่ะ

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
บทความที่น่าสนใจ คลิก!!
“ดิปอะโวคาโดกับผักสติ๊ก” เมนูฝึกเคี้ยว เอาใจลูกวัย 1-2 ขวบ (มีคลิป)
“ต้มจืดลูกเงาะ” เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร (สำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป)
“All in Bowl ไข่ตุ๋นเคี้ยวสนุก” เมนูลูกน้อย 10 เดือน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่