ไข่เป็นอาหารดี ราคาถูก เพราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด เช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน (เอ บี ดี อี เค) และแร่ธาตุ แต่การกินอาหารทุกอย่างควรกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ใช่ยึดหลัก “ยิ่งมากยิ่งดี” สิ่งที่ควรคำนึงถึง ได้แก่
โปรตีน – มีบางคนแพ้โปรตีนจากไข่ ทำให้กินไม่ได้ ส่วนคนที่มีปัญหาโรคไต ไม่ควรกินโปรตีนมากเกินไป ดังนั้นหากกินโปรตีนชนิดอื่นอยู่แล้ว ยังได้จากโปรตีนจากไข่เข้าไปอีก จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
ไขมัน – ในไข่มีคอเลสเตอรอลสูง 146 – 232 มิลลิกรัมต่อฟอง ขึ้นกับขนาดของไข่ ร่างกายควรได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน อย่าลืมว่าลูกกินอาหารอย่างอื่นที่มีคอเลสเตอรอลอยู่แล้ว เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ หรือกินแป้งและน้ำตาล ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็นคอเลสเตอรอลได้อีก
ดังนั้นปริมาณไข่ที่แนะนำ คือ ไม่ควรเกินวันละ 1 ฟอง (หากเป็นโรคคอเลสเตอรอลสูงจากพันธุกรรม ต้องลดเหลือไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์) เพราะว่าการมีระดับคอเลสเตอรอลสูง จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน
หากลูกกินไข่อย่างเดียวจนอิ่มแล้ว อาจทำให้ไม่ได้รับอาหารอื่น เช่น ผัก ผลไม้ หรือโปรตีนชนิดอื่น ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่ไม่มีในไข่ ดังนั้นจึงควรฝึกให้ลูกกินอาหารให้หลากหลาย
การบริโภคไข่ในเด็ก ต้องตระหนักอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ควรให้เด็กกินไข่ที่ไม่สุกเต็มที่ เช่น ไข่ดาวยางมะตูม ไข่ลวก ไข่ที่ตอกใส่โจ๊ก เพราะอาจมีเชื้อโรคตกค้าง ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบติดเชื้อ ถ่ายเป็นมูกเลือด
ส่วนความเชื่อที่ว่าไข่ดิบมีประโยชน์มากกว่าไข่สุกนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในไข่ดิบมีสารอะวิดินที่ไม่ถูกทำลายโดยความร้อน ซึ่งจะไปรบกวนการดูดซึมวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด