แม้นมจะอุดมไปด้วยสารอาหารมากมายโดยเฉพาะแคลเซียม แต่หากมากเกินไปก็มีโอกาสได้รับแคลเซียมมากเกินไปด้วย โดยแคลเซียมที่เกินจะไปขัดขวางการดูดซึมของแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ เหล็กสังกะสี แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส ส่งผลให้ร่างกายขาดแร่ธาตุดังกล่าวได้ นอกจากนี้เด็กที่หม่ำนมเยอะเกินไปยังทำให้อ้วนง่าย แถมอิ่มจนไม่อยากกินอาหารมากประโยชน์ชนิดอื่นๆ
แคลเซียมมีทั้งที่อยู่ในอาหาร ได้แก่ นม เต้าหู้ โยเกิร์ต ชีส เป็นต้น และแคลเซียมเม็ด ซึ่งดูดซึมได้ดีพอๆ กัน แต่การได้แคลเซียมจากอาหารทำให้ร่างกายได้สารอาหารอื่นไปด้วย คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ควรได้รับแคลเซียม 500 – 700 มิลลิกรัมต่อวัน
ถ้าดื่มนมวันละ 2 แก้ว (1 แก้ว ปริมาณ 200 ซีซี) ร่างกายจะได้แคลเซียมประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในวันนั้นแล้ว ดังนั้นสำหรับเด็กอายุ 1 – 3 ขวบ ถ้าดื่มนมมากกว่าวันละ 3 แก้ว (1 แก้ว ปริมาณ 200 ซีซี) หรือเด็กอายุ 4 – 8 ขวบ หากดื่มนมมากกว่า 4 แก้วต่อวัน (1 แก้ว ปริมาณ 200 ซีซี) เป็นปริมาณที่มากเกินไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ชอบกินของว่างเป็นโยเกิร์ตหรือชีสด้วยแล้ว ปริมาณแคลเซียมก็จะยิ่งมากเกิน ควรได้เวลาพิจารณาลดการดื่มนมลงบ้าง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง