Q: ดิฉันพาลูกชายอายุ 1 ขวบ 6 เดือน ไปตรวจสุขภาพตามเวลา ปรากฏว่า เขาน้ำหนักขึ้นไม่ถึง 1 กิโลกรัม ปัญหาหนักใจของดิฉันคือ การจะจับเขานั่งนิ่งๆ แล้วป้อนข้าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย กังวลเหลือเกินว่าลูกจะน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ
ถ้าคุณหมอไม่เป็นกังวลในเรื่องนี้ คุณเองก็ไม่ควรคิดมาก โดยทั่วไปเด็กทารกจะโตเร็วมากในช่วง 12 เดือนแรกจนอาจทำให้คุณแปลกใจ เมื่อเข้าขวบปีที่สองแล้ว อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวกลับลดลง เด็กวัยเตาะแตะหลายๆ คนน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยประมาณเพียง 1.30 – 2.30 กิโลกรัมในช่วงอายุ 1 และ 2 ขวบ น้ำหนักของลูกชายคุณก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของเด็กอายุ 18 เดือน และเหตุที่เด็กเตาะแตะโตช้าลงนี่เอง เขาจึงไม่ค่อยอยากกินอะไรมากนัก
ดังนั้นงานของคุณแม่ก็เพียงแค่ให้เขาได้กินอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ในแต่ละวัน และอาจเป็นไปได้ว่า วันหนึ่งวันใดที่คุณจัดอาหารตามปกติแล้วเขาจะไม่ยอมกินอะไรเลย แต่พอวันต่อมาเขาก็จะต้องกินเพราะเด็กก็ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองหิวหรอก
มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ในการช่วยลูกวัยเตาะแตะฝึกกินมาฝากคุณแม่ เผื่อช่วยคลายกังวลได้
1. จัดอาหารหลากหลาย
ควรจัดอาหารมื้อหลักที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอ สังเกตอาหารที่เขาชอบ และจัดสลับกันไป
2. ไม่จัดอาหารว่างใกล้มื้อหลัก
เพราะลูกจะอิ่มและไม่ยอมกินอาหารมื้อหลักได้ และควรเลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์
3. เป็นกำลังใจในการฝึกกิน
ช่วยทำให้บรรยากาศการกินเป็นเรื่องสบายใจและสนุก แม่ป้อนบ้าง ให้เขากินเองบ้างก็ดี หกเลอะเทอะเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทักษะการกินที่ดีที่ลูกจะได้ติดตัวตลอดไป ไม่บังคับกัน หมดเวลากินก็เก็บอาหาร ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
4. เลิกกังวล
ที่สำคัญคือ เมื่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับเรื่องการเพิ่มน้ำหนักตัวของเด็กวัยเตาะแตะแล้ว ควรลดความกังวลลง เพราะลูกน้อยรับรู้ถึงความรู้สึกของแม่ได้ แม่กังวล ลูกกังวล การกินก็ไม่เป็นสุขนะคะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง