อาหารกลางวันนักเรียน ของไทยเป็นอย่างไร ถูกหลักโภชนาการหรือไม่ ลองมาส่องดูอาหารกลางวันของลูกที่โรงเรียนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเจ้าตัวน้อยหรือไม่นะ
ส่อง! อาหารกลางวันนักเรียน ไทยครบหมู่ถูกหลักโภชนาการไหม
ผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดประจวบฯออกมาชี้แจงข่าวอาหารกลางวันมื้อละ 21 บาท ไม่ได้คุณภาพ เผยภาพที่เป็นข่าวเป็นจานที่แม่ครัวยังตักอาหารไม่ครบ พร้อมเตรียมเอาผิดครูผู้ถ่ายภาพกลั่นแกล้ง ซึ่งมีพฤติกรรมเชื่อมโยงกรณีของในโรงเรียนหายไป
โผล่อีก ดราม่าอาหารกลางวันเด็ก คราวนี้ โรงเรียน กทม. ย่านบางเขน ส่งประกวด ชาวเน็ตอึ้งเจอคำบอกเล่า 40 บาท กิน ๆ ไปเถอะ บางทีเจอกับข้าวมีแต่วิญญาณไม่มีเนื้อสัตว์
ผู้ปกครองโวยอาหารกลางวันเด็ก โรงเรียนดังนนทบุรี ให้กิน “มาม่า” วันเว้นวัน กับ “ขนมปี๊บ” มื้อไหนที่เป็นข้าวก็มีแต่วิญญาณเนื้อสัตว์กับผัก ซ้ำมีกลิ่นเน่าตุๆ ต้องซื้อขนมที่ครูขายกินเพิ่มเติม
แชร์ว่อน! สพฐ. ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงโรงเรียนในสังกัด ให้ทำอาหาร “มังสวิรัติ” เป็นมื้อกลางวันในโรงเรียน หวังลดการเบียดเบียนสัตว์ช่วงเข้าพรรษา โซเชียลเดือดวิจารณ์ยับ ห่วงเด็กขาดสารอาหาร
ที่มา : www.bangkokbiznews.com/www.nationtv.tv/www.pptvhd36.com
จากหัวข้อข่าวข้างต้น คงทำให้ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวล กับ อาหารกลางวันนักเรียน ของโรงเรียนลูกตนเองว่าจะมีลักษณะอย่างไรกันใช่ไหม? คงต้องขอกล่าวว่า โภชนาการสำหรับเด็กวัยกำลังเจริญเติบโตนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่คอยพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของลูกที่โรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่อยากจะแนะนำให้พ่อแม่ทุกคนควรทำ การพูดคุย การตั้งคำถามกับลูกหลังเลิกเรียน นอกจากจะช่วยให้เราได้พูดคุยกับลูก เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ ความเข้าใจกันและกันแล้ว พ่อแม่ยังสามารถที่จะเฝ้าระวังเหตุอันไม่ควรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกในระหว่างที่ห่างจากสายตาพ่อแม่ได้อีกด้วย เช่น การถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ความเข้าใจในบทเรียน และรวมถึงอาหารการกินที่โรงเรียนว่ามีคุณภาพ และปริมาณเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น
หลักโภชนาการขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กวัยเรียน
เด็กวัยเรียน หมายถึง เด็กที่มีอายุ 6 -12 ปี เด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเรียนรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเด็กในวัยนี้ได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม จะส่งผลทำให้เด็กร่างกายแคระแกรน สติปัญญาทึบ ไม่มีความพร้อมในการเรียน ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานต่ำ
กินไม่ดี เสี่ยง IQ ต่ำ!!
หลังจากลูกคลอดออกมาจากท้องแม่ จำนวนของเซลล์สมองนั้นจะสามารถเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่มากนัก แต่เซลล์สมองสามารถสร้างและพัฒนาเครือข่ายได้อย่างมีศักยภาพมากที่สุดในช่วง 3 ขวบปีแรก ผ่านการส่งเสริมให้เส้นใยที่ส่งข้อมูลในสมองแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น ผ่านการสร้างประสบการณ์ ในขณะที่ส่วนของสมองที่เป็นเปลือกหุ้มเส้นใยสมอง หรือ นวมสมองที่เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้สามารถสร้างเพิ่มขึ้นได้จากอาหารและการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ
อาหารจึงมีบทบบาทสำคัญในการสร้างความฉลาดให้สมอง ดังนั้นจึงแนะนำให้เด็กรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ และรับประทานให้หลากหลาย
เช็กด่วน! ลูกมีพัฒนาการการเจริญเติบโตทางร่างกายปกติหรือไม่ ?
การติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับน้ำหนัก และส่วนสูงต่ออายุที่เหมาะสมของเด็ก ตามตารางแสดงน้ำหนักและส่วนสูงที่เหมาะสมของเด็ก ดังนี้
อายุ (ปี) |
น้ำหนัก (ก.ก.) |
ส่วนสูง (ซ.ม.) |
4-6 |
16-20 | 100-110 |
7-9 |
22-26 |
115-125 |
10-12 | 28-32 |
130-140 |
ทำไมโภชนาการในเด็กวัยเรียนจึงสำคัญ?
เด็กในวัยนี้มีการเคลื่อนไหว และใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่เฉย ทั้งทางด้านร่างกาย และการใช้ความคิด ดังนั้นร่างกายจึงต้องการสารอาหารต่าง ๆ ครบทั้ง 5 หมู่ และต้องมีปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายด้วย ก่อนที่เราจะมาดูกันว่า อาหารกลางวันนักเรียน ในโรงเรียนของลูกคุณพ่อคุณแม่นั้นเพียงพอ และมีคุณภาพหรือไม่ เรามาทำความเข้าใจกับคำ 2 คำนี้กันเสียก่อน
- โภชนาการ (Nutrition) คือ อาหารที่เข้าสู่ร่างกายคนแล้วสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ที่นำมาประกอบเป็นอาหารเป็นเมนูที่มีประโยชน์
- สารอาหาร (Nutrients) คือ สารที่อยู่ในอาหาร ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายให้แข็งแรง เช่น คาร์โบไฮเดรต ที่มาจากข้าว แป้ง หรือ วิตามิน ที่มาจาก ผัก ผลไม้ นั่นเอง
ชนิดอาหารที่ควรเลือกให้เด็ก
- เนื้อสัตว์ เป็นสารอาหารที่ให้โปรตีนช่วยเสริมสร้างสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อและฮอร์โมน ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันเพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็ก และควรให้อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
- ไข่เป็ด ไข่ไก่ ควรได้รับวันละ 1 ฟองทุกวัน
- ถั่วเมล็ดแห้ง เด็กวัยเรียนควรกินถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำเพราะถั่วเมล็ดแห้งมีโปรตีน แคลเซียมและวิตามินบีสองมาก
- นมสด เป็นอาหารที่ให้โปรตีนและแคลอรี่สูง และยังมีแคลเซียมวิตามินเอมาก ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เด็กจึงควรดื่มนมทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว
- ผักใบเขียวและผักสีเหลือง ควรให้เด็กบริโภคในมื้ออาหารทุกมื้อ และควรสับเปลี่ยนชนิดให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน
- ผลไม้สด เป็นแหล่งที่ดีของวิตามินและเกลือแร่โดยเฉพาะวิตามินซี เด็กควรได้รับผลไม้ทุกวัน และเลือกชนิดให้หลากหลายตามฤดูกาล
- ข้าว ก๋วยเตี๋ยวหรือแป้งอื่นๆ ควรจัดให้เด็กในมื้ออาหารทุกมื้อ หรือกินในรูปของขนมบ้างก็ได้ โดยเลือกข้าวหรือแป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุมาก
- ไขมันหรือน้ำมันพืช เป็นเหล่งที่ดีของพลังงานและช่วยให้วิตามินที่ละลายในน้ำมันถูกดูดซึมได้ดีขึ้นควรเลือกน้ำมันพืชเพื่อใช้ในการประกอบอาหารให้แก่เด็กเช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
- น้ำ ควรให้เด็กบริโภคน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว หรือให้เพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไปในแต่ละวัน
สารอาหารดังกล่าวข้างต้น เป็นสารอาหารหลักที่เด็ก ๆ ควรได้รับในแต่ละวัน และต้องมีปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพราะถ้าหากเด็กได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกิน หรืออ้วน แต่ถ้าหากได้รับไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของเด็กเช่นกัน
หลักการจัดโภชนาการในเด็กวัยเรียน
- ควรจัดอาหารหลักให้เด็กได้บริโภคครบทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า ดังนั้นไม่เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยสำรวจอาหารกลางวันที่โรงเรียนของลูกแล้ว อย่าลืมอาหารเช้า และอาหารเย็นที่บ้านต้องจัดตามหลักโภชนาการด้วยเช่นกัน
- ควรจัดอาหารให้ครบถ้วน ได้สัดส่วน และเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก โดยเราจะดูได้จากน้ำหนัก และส่วนสูงของลูกเมื่อเทียบกับตารางน้ำหนัก และส่วนสูงที่เหมาะสมของเด็กในแต่ละวัย โดยประเมินได้ว่าหากน้ำหนักเกิน ลูกได้รับอาหารที่มากเกินพอดี แต่หากน้ำหนัก และส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์ นั่นเป็นการแสดงว่าลูกของคุณขาดสารอาหาร หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- ควรให้เด็กรับประทานอาหารตรงเวลา ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมจุบจิบ การรับประทานขนมจะไปเบียดบังกระเพราะอาหาร และความอยากอาหารของเด็ก แต่สิ่งที่เขาได้รับไปจากขนมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ไร้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย
- ควรจัดอาหารว่างให้เด็กบริโภคตนสาย และตอนบ่าย
- ในแต่ละมื้อไม่ควรจัดให้มีอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาลอย่างเดียวเท่านั้น ควรพยายามจัดอาหารให้ครบหมู่
- ผู้ปกครองควรให้ความสนใจกับสภาพจิตใจของเด็ก เพราะจะส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร และภาวะโภชนาการของเด็ก เหมือนดั่งคำกล่าวที่ว่า ใจเป็นสุข อะไรก็อร่อย
เมื่อกล่าวมาถึงจุดนี้ คงทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจหลักการทางโภชนาการของเด็กกันมาพอสมควรแล้ว แต่เพื่อความเข้าใจ และตรงจุดมากยิ่งขึ้น จะขอจำแนกแบ่ง หลักโภชนาการอาหารของเด็กวัยเรียน ตามแต่ประเภทดามวัยของเด็ก
อ่านต่อ>>ตัวอย่างการจัดอาหารกลางวันนักเรียน เด็กประถม และมัธยมให้ถูกหลักโภชนาการ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่