สรุปการเลือกชนิดของน้ำมันอย่างไร ให้เหมาะกับการทำอาหาร
แม่ฮันน่าห์ขอย้ำอีกทีว่าน้ำมันแต่ละประเภท เหมาะสำหรับใช้ทำอาหารแตกต่างกันไป ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย เรามาดูกันค่ะว่าควรเลือกใช้น้ำมันปรุงอาหารอย่างไรดี
– อาหารประเภททอด = อาหารประเภททอดที่ต้องใช้ความร้อนสูง ต้องใช้น้ำมันในปริมาณมาก อย่างการทอดไก่ ทอดปลา ทอดกล้วยแขก โดนัท กุยช่าย ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะมีความคงทนต่อความร้อนได้ดี ไม่ทำให้เกิดควัน ไม่เกิดกลิ่นหืน และยังได้อาหารที่กรอบ หอม น่ารับประทาน ซึ่งน้ำมันประเภทนี้ก็คือ น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม
– อาหารประเภทผัด = หากเป็นการประกอบอาหารที่ต้องใช้น้ำมันขลุกขลิก ใช้ในปริมาณน้อย ความร้อนไม่สูงมาก สามารถใช้น้ำมันชนิดใดก็ได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น
– อาหารประเภทสลัด = ไม่ว่าจะทำน้ำสลัดหรือใช้น้ำมันเป็นเครื่องปรุงรสเพียว ๆ ควรเลือกใช้น้ำมันพืชชนิดที่ไม่แข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ และควรเป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะกอกธรรมชาติ น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันข้าวโพด
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำมันปรุงอาหาร
1. ไขมัน น้ำมัน และอาหารต่างๆ ที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ เมื่อเก็บไว้นานจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเกิดการออกซิเดชันของไขมัน โดยการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้มีกลิ่นและรสผิดปกติคือกลิ่นหืนและเกิดผลเสียอื่นๆ คือสารพิษซึ่งจะทำให้สีและลักษณะเนื้อสัมผัสของอาหารเปลี่ยนไป สูญเสียสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินเอ วิตามินอี และกรดไขมันจำเป็น
2. การป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน อาจป้องกันที่ต้นเหตุคือไม่ให้ไขมันและอาหารสัมผัสกับออกซิเจน หรือโดยการเติมสารกันหืนเพื่อช่วยยับยั้งหรือชะลอให้เกิดปฏิกิริยาช้าลง
3. ปัจจุบันการใช้สารกันหืนในน้ำมัน มีทั้งที่เป็นสารเคมี และสารธรรมชาติ น้ำมันพืชที่มีสารกันหืนตามธรรมชาติอยู่สูง คือ น้ำมันรำข้าว และน้ำมันงา
4. ควรเก็บน้ำมันพืชไว้ในที่เย็นและพ้นจากแสง เพื่อถนอมรักษาวิตามินอีเอาไว้ น้ำมันพืชที่มีวิตามินอีมากเป็นพิเศษ ได้แก่ น้ำมันทานตะวัน น้ำมันจมูกข้าวสาลี ซึ่งวิตามินอีจะมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อหุ้มเซลล์ถูกทำลาย
5. การใช้น้ำมันปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายเทไขมันระหว่างเนื้อสัตว์กับน้ำมันที่ใช้ปรุง ทำให้ไขมันอิ่มตัวในเนื้อสัตว์ลดลง และแม้ว่าเนื้อสัตว์มักจะไม่ดูดซับไขมันเข้าไปง่ายๆ แต่ถ้าประกอบอาหารโดยการชุบแป้งหรือขนมปังป่น จะทำให้อาหารนั้นอมน้ำมันมากขึ้น
6. อุณหภูมิของน้ำมัน และขนาดชิ้นอาหารที่นำลงทอด ล้วนมีผลทำให้เกิดการอมน้ำมันมากน้อยแตกต่างกัน อาหารชิ้นใหญ่จะอมน้ำมันน้อยกว่าอาหารชิ้นเล็ก
7. น้ำมันที่ตั้งไฟให้ร้อนจัด (ประมาณ 180 องศาเซลเซียส) จะช่วยให้อาหารที่ทอดนั้นดูดซึมไขมันน้อยที่สุด การใช้กระดาษซับน้ำมันหลังการทอด จะช่วยลดไขมันส่วนเกินได้
8. ปัจจุบันมีการเติมก๊าซไนโตรเจนลงไปในขวดน้ำมันพืชบางชนิด เพื่อป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชัน แทนการเติมสารกันหืน ดังนั้น ควรเลือกซื้อน้ำมันพืชที่ผลิตใหม่ๆ เพราะไนโตรเจนอาจรั่วซึมออกไปบ้างถ้าทิ้งไว้นาน และเมื่อเปิดใช้แล้ว ควรรีบใช้ให้หมดระหว่างที่ยังไม่หมดควรเก็บไว้ในตู้เย็น
9. น้ำมันพืชเป็นผลิตภัณฑ์จากกระบวนการทางเคมีและกายภาพ ดังนั้นจึงอาจมีสารเคมีบางตัวตกค้างไว้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันพืชกลุ่มที่กลั่นด้วยกระบวนการทางเคมี เช่น น้ำมันทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งโอกาสที่จะพบสารเคมีตกค้างได้มากกว่าน้ำมันที่สกัดโดยกระบวนการทางกายภาพ (คั้นเอาน้ำมันออกมา) เช่น น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว
10. น้ำมันปาล์มโอเลอิน เป็นน้ำมันซึ่งสกัดมาจากเปลือกของเมล็ดปาล์ม จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการแยกเอากรดไขมันอิ่มตัวออกบางส่วน น้ำมันที่ได้จึงมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (ตำแหน่งเดียว) ที่มีประโยชน์สูง เรียกว่า กรดโอเลอิก จึงเรียกว่าน้ำมันปาล์มโอเลอีน ขณะเดียวกันก็ยังมีกรดไขมันจำเป็น “ไลโนเลอิก” อยู่พอประมาณ และมีวิตามินอี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย (โดยเฉพาะเด็กในวัยเจริญเติบโต)
11. เพื่อลดความเสี่ยงในการสะสมสารเคมีในร่างกาย ควรเลือกซื้อน้ำมันพืชสลับยี่ห้อ สลับชนิดกันบ้าง ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น มีโคเลสเตอรอลสูง หรือเป็นโรคหัวใจก็จะต้องกินอาหารประเภททอดๆ นี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดีตลอด ไปสำหรับทุกๆคน ก็ควรปรุงอาหาร โดยใช้น้ำมันแต่น้อย การใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารวันละประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ (สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ) ก็จะทำให้ร่างกาย ได้รับกรดไขมันที่จำเป็นเพียงพอในแต่ละวัน
อย่างไรก็ดี ต้องขอทำความเข้าใจกันอีกทีว่าไม่มีน้ำมันชนิดไหนดีที่สุดหรืออันตรายที่สุด เพราะร่างกายเราต้องการไขมันแต่ละประเภทในปริมาณที่เท่า ๆ กันในการสร้างพลังงานให้ร่างกาย ทว่าเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ เราเองก็ควรเลือกรับประทานน้ำมันให้ถูกชนิด ถูกวิธีปรุงอาหาร ที่สำคัญควรจำกัดปริมาณการกินน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ก็ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้ครบทั้ง 5 หมู่สำคัญ และหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงาน เลี่ยงโอกาสเกิดไขมันสะสมในร่างกายด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- เฉลยวิธีเลือก กล้วยน้ำว้า แบบไหนดีกว่ากัน ลูกได้ประโยชน์เต็มๆ
- ไข่ไก่ กับ ไข่เป็ด อะไรดีกว่ากัน ลูกควรกินไข่ชนิดไหน?
- เผยวิธี ปอกแอปเปิ้ล อย่างไรไม่ให้ดำ! (มีผลการทดลอง)
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.lovefitt.com, www.doctor.or.th , www.lokehoon.com