แม่ท้องมือใหม่ ย่อมกังวลกับท้องแรก จะดูแลสุขภาพอย่างไร อยากสวยอยากเฟิร์มในช่วงตั้งครรภ์แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง และอีกสารพัดเรื่องกังวลสำหรับแม่ท้องมือใหม่ พญ. เมสิตา สุขสมานวงศ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จึงมีคำตอบคลายข้อสงสัย พร้อมแนะวิธีดูแลตัวเองและลูกน้อยให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดช่วงตั้งครรภ์ค่ะ
เตรียมตัวก่อน ยิ่งเร็วยิ่งดี
เรื่องสุขภาพโดยรวมควรเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เทียบกันแล้วคนที่เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ ย่อมดีกว่าคนที่ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว วิธีเตรียมตัวก็ง่ายๆ เพียงดูแลให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายบ้าง ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีพิเศษคือควรกินโฟเลตบำรุงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันความพิการบางอย่างให้ลูกน้อย ควรตรวจสุขภาพว่าเรามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และดูว่าเรามีภูมิคุ้มกันหรือได้รับวัคซีนต่างๆ เพียงพอหรือยัง ถ้าตรวจทุกอย่างเรียบร้อยและไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างสบายใจ ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวก็ไม่ได้หมายความว่าตั้งครรภ์ไม่ได้นะคะ เพียงแต่ต้องควบคุมโรคให้ดีก่อน ก็จะทำให้การตั้งครรภ์มีความปลอดภัยมากขึ้นค่ะ
อาหารที่แม่ท้องต้องกิน
จริงๆ แล้วแม่ท้องต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 300 กิโลแคลอรีต่อวันเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเยอะมากอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แม่มักจะคิดว่ากินอะไรให้ลูกโต กินอะไรให้ลูกแข็งแรง กินอะไรให้ลูกฉลาด จริงๆ แล้วทางการแพทย์ไม่ได้บอกว่าต้องกินอะไรกันแน่ เพียงแค่กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ และกินให้หลากหลายก็เพียงพอแล้วค่ะ เช่น วันนี้กินปลา วันพรุ่งนี้กินอกไก่ วันต่อไปกินหมู ลูกก็จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลายตามไปด้วย
น้ำมะพร้าว : กินแล้วแท้ง VS กินแล้วลูกผิวสวย
คุณแม่ส่วนหนึ่งเชื่อว่าน้ำมะพร้าวทำให้แท้งง่าย อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าน้ำมะพร้าวทำให้ลูกผิวสวยและไม่มีไขติดตัวตอนคลอด แท้จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิดหมดค่ะ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีในน้ำมะพร้าวไม่ได้มีส่วนในเรื่องของการแท้ง เพียงแต่คุณแม่ตั้งครรภ์มีฮอร์โมนตัวนี้มากพออยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องกินเพิ่ม และไขที่ติดตัวทารกตอนเกิด จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่คลอด ยิ่งคลอดในช่วงอายุครรภ์น้อยยิ่งมีไขเยอะ เพราะฉะนั้นหากคุณแม่อยากกินน้ำมะพร้าวก็กินได้ค่ะ แต่ไม่ควรกินเยอะ เพราะน้ำมะพร้าวมีน้ำตาลสูง กินมากก็อาจทำให้น้ำตาลขึ้นและเป็นเบาหวานหรืออ้วนได้ค่ะ
แม่ท้องทำน้ำหนักรับขวัญลูกน้อย
หมอแนะนำให้คุณแม่ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีน้ำหนักตามมาตรฐานปกติขณะตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มโดยรวมคือ 12-18 กิโลกรัม แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่แล้ว แนะนำว่าในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มเพียง 7-11 กิโลกรัมเท่านั้น แต่หากคุณแม่ผอมมาก ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรเพิ่มน้ำหนักมากกว่า 18 กิโลกรัมค่ะ โดยหมอไม่แนะนำให้ลดน้ำหนักหรืออดอาหารในระหว่างการตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด เพียงแค่ควบคุมปริมาณน้ำหนักที่จะเพิ่มจากเดิมด้วยการเลือกกินให้สมดุลเท่านั้นค่ะ
ในไตรมาสแรกน้ำหนักคุณแม่จะยังไม่เพิ่มเท่าไร แต่เมื่อถึงไตรมาสที่ 2-3 น้ำหนักของคุณแม่ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นช่วงที่ลูกเริ่มเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นหากคุณแม่กังวลว่าท้องแล้วแต่ในช่วงไตรมาสแรกน้ำหนักไม่ขึ้นเลย แบบนี้จะเป็นอะไรไหม ก็ขอให้สบายใจว่าไม่ได้เป็นอะไรค่ะ และโดยทั่วไปหมอจะตรวจขนาดมดลูกด้วยการคลำและวัดด้วยมือเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อดูว่าขนาดมดลูกและอายุครรภ์สอดคล้องไปด้วยกันหรือไม่ สมมุติว่าดูแล้วขนาดและอายุครรภ์มันไม่ได้ไปด้วยกัน หมอจึงจะอัลตราซาวด์ หาสาเหตุ และหาวิธีแก้ไขให้ค่ะ