WHO เตือน! อาหารทารก มีน้ำตาลสูงเกินไป เสี่ยงหลายโรคร้าย - Page 2 of 2 - Amarin Baby & Kids
อาหารทารก

WHO เตือน! อาหารทารก มีน้ำตาลสูงเกินไป เสี่ยงหลายโรคร้าย

Alternative Textaccount_circle
event
อาหารทารก
อาหารทารก

ลูกติดหวานจาก อาหารทารก ที่มีรสหวานเกินไป เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง?

การที่ลูกติดหวาน บางทีอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรมาก เพราะลูกยังเล็ก ต้องการใช้พลังงานสูง แต่หากลูกยังติดหวานไปเรื่อย ๆ จนโตล่ะ? การที่ลูกมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ผิด ๆ สามารถส่งผลให้ลูกเสี่ยงต่อโรคต่อไปนี้ได้เช่นกัน

  1. โรคเบาหวาน

เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลเข้ากระแสเลือดในปริมาณมากจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และแน่นอนว่าถ้าหากเราไม่สามารถหยุดทานหวานได้ ก็จะทำให้เกิดการต้านอินซูลินอย่างรุนแรง และนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ และทราบหรือไม่คะว่าเด็กก็เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน (อ่าน แม่แชร์! ลูกเกือบช็อคเพราะ เบาหวานในเด็ก)

2. โรคอ้วน

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง แบบที่อินซูลินก็ช่วยอะไรไม่ได้ น้ำตาลจะมีการเปลี่ยนรูปไปเป็นไขมัน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้กลายเป็นโรคอ้วน โรคที่เป็นจุดกำเนิดของโรคร้ายต่าง ๆ ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคอ้วนและตามมาด้วยโรคอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่ควรกินหวานมากเกินไปอย่างเด็ดขาด

(อ่าน โรคอ้วนในเด็ก พฤติกรรมแบบไหนทำลูกเสี่ยงอ้วน!!)

3. โรคหัวใจ

การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ระบบสูบฉีดโลหิตของร่างกายมีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือการเพิ่มคอเลสเตอรอลเลว (LDL) เพิ่มไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงทำให้อินซูลินมีการหลั่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจแบบโดยตรง (อ่าน 6 ผักก้นครัว! สกัดกั้น “โรคหัวใจ” ให้ครอบครัวแบบขั้นเทพ)

4. โรคกระดูกพรุน/กระดูกเปราะ

การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด ร่างกายจึงต้องทำการปรับสมดุลนี้ด้วยการไปดึงแร่ธาตุต่าง ๆ มาใช้งานไม่เว้นแม้กระทั่งแคลเซียม จึงส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกพรุนตามมา

นอกจากโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการติดหวานแล้ว ลูกยังเสี่ยงต่อการฟันผุได้อีกด้วย ดังนั้น เรามาหาวิธีเปลี่ยนลูกให้เลิกติดหวานกันดีกว่าค่ะ

อาหารเด็ก
อาหารเด็ก

วิธีสอนลูกให้เลิกติดหวาน

แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ ต้องปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีคุณภาพ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะการที่เด็กติดรสชาติหวาน มัน เค็ม หรือติดการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว หลายบ้านเมื่อลูกโตขึ้นพอที่จะกินอะไรได้ คุณพ่อคุณแม่มักจะให้ลองชิมน้ำหวาน ขนม ไอศกรีม พอเด็กได้ลองก็กลายเป็นชอบและติดในที่สุด หรือบางบ้านผู้ใหญ่ในครอบครัวรับประทานฟาสต์ฟู้ดและขนมเป็นประจำอยู่แล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กจะอยากรับประทานของเหล่านั้นด้วย ฉะนั้นการที่เขาจะติดรสอะไรหรือจะเลือกกินอาหารแบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูมาเป็นหลัก

สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หากไม่อยากให้ลูกติดรสชาติที่ปรุงแต่งจนเยอะเกินไป แนะนำให้ดูแลเรื่องอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็ก ดังนี้

  • อายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ให้กินแต่นมแม่ ในกรณีที่นมแม่ไม่พอหรือกินนมแม่ไม่ได้ ให้กินนมผงสำหรับทารกแรกเกิดแทน ซึ่งในนมแม่และนมผงประเภทนี้มีปริมาณสารอาหารที่เพียงพอสำหรับเด็ก ปริมาณของโซเดียม แคลอรี ไขมัน และโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายกำลังดี
  • อายุ 6 – 9 เดือน ให้กิน อาหารทารก เสริมวันละมื้อควบคู่กับนม โดยเน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ และต้องไม่ปรุงรสใดๆ เน้นรสธรรมชาติ
  • 9 – 12 เดือน เพิ่ม อาหารทารก เสริมเป็น 2 มื้อ และกินผลไม้เป็นของว่างได้
  • 1 ขวบ ให้กินอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เหมือนผู้ใหญ่ แต่ไม่ปรุงมาก เน้นรสธรรมชาติ ส่วนนมถือว่าเป็นของว่างช่วงสาย บ่าย และก่อนนอน

สามารถจัดสัดส่วนเพื่อให้ลูกได้รับปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตง่ายๆ คือ

  • เน้นผักใบเขียว 40%
  • เสริมด้วยผลไม้ แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต 25%
  • โปรตีนคุณภาพดี คือโปรตีนเนื้อๆ ไม่เอาหนังไม่เอามัน 25%
  • และผลไม้ 10%

ที่สำคัญมากคือ อย่าส่งเสริมให้เด็กรับประทานโปรตีนแปรรูป พวกไส้กรอก หมูแฮม เบค่อน กุนเชียง ปูอัด หมูหยอง เพราะมีสารเคมีค่อนข้างเยอะ รวมถึงมีโซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูง

ส่วนเด็กบ้านไหนที่ลิ้นติดรสหวาน รสเค็ม หรือรสอื่นๆ ไปแล้ว วิธีเปลี่ยนลิ้นลูกทำได้โดยเลิกปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารจั๊งค์ฟู้ด ของหวาน น้ำหวาน และขนมกรุบกรอบ แล้วจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวของเขาให้มีแต่ของดีๆ มีประโยชน์ วิธีนี้ไม่ใช่การบังคับลูกให้รับประทานผักหรือทานหวานน้อยลง แต่เป็นการปรับสิ่งแวดล้อมโดยรวม เช่น ถ้าไม่อยากให้ลูกรับประทานไอศกรีม ก็ไม่ควรมีไอศกรีมอยู่ในบ้าน เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึง ส่วนเวลาไปเที่ยวก็เลือกพาลูกไปเดินสวนสาธารณะ ปั่นจักรยานแทน แทนการพาไปในสถานที่ที่มีขนมหวานจำหน่าย นี่คือการปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งครอบครัว ซึ่งจะช่วยตัดปัญหาเรื่องการกินและโรคภัยต่าง ๆ ได้

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

15 ชนิด อาหารที่ทารกควรหลีกเลี่ยง

Step by Step ทารกแต่ละช่วงวัยกินอะไร อย่างไร

คัมภีร์ “ตารางอาหารตามวัย” สำหรับลูกน้อยในวัยขวบปีแรก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, Honestdocs

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up