นมบูด ต้องเป็นแบบไหน เทตรวจสอบนมกล่องก่อนให้ลูกดื่ม เมื่อมีแม่โพสสงสัย เทนมโรงเรียนแล้วเจอสภาพแบบนี้ ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ กับคำตอบทางวิทยาศาสตร์ให้คลายกังวล
แม่สงสัย!เทนมโรงเรียนเจอแบบนี้ นมบูด หรือปกติกันนะ
จากเฟซบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า ที่ได้โพสต์ให้ทุกคนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ ในวันที่ 23 /2/ 2565 จากเรื่องของคุณแม่รายหนึ่งที่ได้เทนมโรงเรียนใส่ชามซีเรียลให้ลูกรับประทานตอนเช้า แต่กลับพบว่า นมจากนมกล่องโรงเรียนมีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ เหมือนนมเจือจาง ไม่มีกลิ่น รสชาติไม่เปรี้ยว และบนฉลากที่ระบุวันหมดอายุ ก็ยังไม่หมดอายุ จึงเกิดข้อสงสัยว่า ลักษณะดังกล่าว เป็นเพราะ นมบูด หรือคุณภาพของนมกล่องโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพกันแน่
กรณีดังกล่าวก็ได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบางท่านก็ได้แชร์เรื่องราวที่ตนเองได้เคยประสบพบในแบบเดียวกันนี้ ทั้งแบบนมใส และนมจับตัวเป็นก้อนคล้ายโยเกิร์ต ซึ่งต่างก็ลงความเห็นหาสาเหตุต่าง ๆ นานา โดยเหตุผลส่วนใหญ่คาดกันว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการจัดเก็บที่ไม่ดีพอ หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน การเติมสารกันการตกกะกอนในนมที่ไม่ดีพอ หรืออุณหภูมิที่สูงเกินไปในการจัดเก็บ สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถทำให้คุณภาพนมมีปัญหาได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ระบุว่า โปรตีนนม น่าจะจับตัว แยกตัวจากน้ำนม ตกลงไปนอนก้นกล่องครับ (ไม่น่าจะเป็นน้ำใสทั้งกล่อง) การเกิด curd มักเป็นปัญหาของการจัดเก็บกล่องนม เช่น อยู่ในที่ร้อนเกินไป แม้จะยังไม่หมดอายุหรือไม่ได้บูดเสียก็ตามแต่ถ้ายังไม่หมดอายุ กลับชิมแล้วรสชาติแปลกไป เช่น เปรี้ยว ขม เหม็น ฯลฯ ก็แสดงว่าน่าจะมีรอยรั่วซึมด้วย จนเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปเจริญเติบโตได้
เกร็ดความรู้ : การเกิด Curd คืออะไร??
ลิ่มน้ำนม Curd คือโปรตีน (protein) ในน้ำนมที่มีลักษณะเป็นลิ่ม กึ่งแข็งกึ่งเหลว ได้จากการตกตะกอน (coagulation) โปรตีนนม ด้วยกรดเอนไซม์ หรือสารละลายเกลือ เช่น ก้อนโปรตีนของน้ำนมในการผลิตเนยแข็ง หรือก้อนโปรตีนของน้ำนมถั่วเหลือง (bean curd) ในการผลิตเป็นเต้าหู้ เป็นต้น
มาทำความรู้จัก “นมโรงเรียน” กันเถอะ!!
นมโรงเรียน มี 2 รูปแบบ ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์ และนม UHT ขนาดบรรจุ 200 มิลลิลิตร
- นมพาสเจอร์ไรส์ (นิยมบรรจุถุง) คือ นมที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน และเวลาที่เพียงพอต่อการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น โดยฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 63-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที หรืออุณหภูมิ 72-75 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15-20 วินาที การพาสเจอร์ไรส์ทำลายจุลินทรีย์ได้ 95-99% แต่จุลินทรีย์ที่ทนต่อความร้อนได้ดี หรือประเภทสร้างสปอร์อาจรอดชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นนมพาสเจอร์ไรส์จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส มีระยะเวลาการบริโภคนับจากวันที่ผลิตไม่เกิน 10 วัน ข้อดีคือสารอาหารต่าง ๆ ถูกทำลายน้อยมาก เนื่องจากการผ่านความร้อนต่ำนั่นเอง การขนส่งและเก็บรักษานมพาสเจอร์ไรส์ ควรมีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด
- นม UHT (นิยมบรรจุกล่อง) เป็นนมที่ผ่านการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อน 133-150 องศาเซลเซียส นาน 2-4 วินาทีจนทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรครวมทั้งสปอร์ของเชื้อจุลินทรีย์ได้ทำให้สามารถเก็บนม UHT ไว้ได้นาน แม้จะเก็บไว้ภายนอกตู้เย็น แต่สถานที่เก็บต้องไม่ร้อน เมื่อเก็บไว้นานเกินไปจนนมหมดอายุ นมจะหนืดเป็นวุ้น กลิ่นรสจะเปลี่ยน รวมทั้งไขมันในนมจะแยกชั้นจากน้ำนม
การเสื่อมของน้ำนม
น้ำนม (milk) มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญของจุลินทรีย์ทุกชนิด ทั้งแบคทีเรีย ยีสต์ และรา จึงเป็นอาหารที่เสียได้ง่ายมาก และยังมีโอกาสพบจุลินทรีย์ก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ การเสื่อมเสียของน้ำนมจะมี 2 สาเหตุหลัก คือ
1.การเสื่อมเสียเนื่องจากจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ที่พบในน้ำนมส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย ได้แก่
- กลุ่มเมโซไฟล์ ที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- กลุ่มโคลิฟอร์ม มักพบแบคทีเรียกลุ่มนี้ในน้ำนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งอาจเกิดจากการให้ความร้อนสำหรับการฆ่าเชื้อไม่เพียงพอ มีการปนเปื้อนขณะบรรจุ
- กลุ่มเทอร์โมดิวริคแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ทนต่ออุณหภูมิสูง และไม่ถูกฆ่าเชื้อด้วยการพาสเจอไรส์
- กลุ่มเทอร์โมไฟล์ เป็นแบคทีเรียที่สามารถเจริญได้ที่ระดับอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิพาสเจอไรซ์ด้วย
- กลุ่มไซโครโทรป เป็นแบคทีเรียที่เจริญได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้คุณภาพของน้ำนมลดลงโดยสร้างเอนไซม์มาย่อยโปรตีน และไขมันในน้ำนม ทำให้นมเกิดกลิ่น และเน่าเสียได้
2. การเสื่อมเสียเนื่องจากปฏิกิริยาเคมี เช่น การเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชันของลิพิดทำให้เกิดกลิ่นหืน การเปลี่ยนสีของนม ที่เกิดจากปฎิกิริยาระหว่างกรดแอมิโน และน้ำตาลแล็กโทส ในกระบวนการแปรรูปด้วยความร้อน และระหว่างการเก็บรักษา
ส่องวิธีการเก็บรักษาคุณภาพของนมโรงเรียน
การเก็บรักษาคุณภาพนมโรงเรียนแบบ UHT หลังตรวจนับ
- ตรวจลักษณะภายนอกของกล่องนม ดูสภาพกล่องนมว่ามีรอยหัก ย่น บวม ซึม หรือไม่ ถ้ามีให้ส่งคืนสายส่ง
- ตรวจสอบฉลากบนกล่องนม ดูข้อมูล เลขทะเบียน อ.ย. และวันหมดอายุ ถ้าหมดอายุก่อนเวลาบริโภคไม่ควรรับนม
- ตรวจลักษณะทางกายภาพของนม โดยทำการเทนมใส่แก้ว เพื่อสังเกตลักษณะทางกายภาพ เช่น สี ลักษณะที่ผิดปกติ มียางเหนียวที่ผิวหน้า มีตะกอน มีการแยกชั้น ทำการคัดออก และบันทึกลงแบบฟอร์ม
- การขนย้ายนมจากสายส่ง มีการกำชับห้ามโยนกล่อง หรือลังนม ห้ามยืน หรือนั่งบนกล่อง หรือลังนม
- การจัดเก็บลังนม UHT มีมาตราการดังนี้
- เก็บนมในที่ร่ม ไม่โดนแสงแดด ไม่อยู่ใกล้แหล่งให้ความร้อน เช่น ครัว
- ไม่วางลังนมติดพื้น ควรสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันความชื้น แมลง หรือหนูกัดแทะ
- ควรวางกล่องให้ชิดกัน อย่าให้มีช่องว่างเพื่อให้รับน้ำหนักเท่ากัน
- ไม่วางลังนมในสถานที่อับชื้นหรือในถังน้ำแข็ง เพราะจะทำให้กล่องเปื่อย
- ถ้านมบรรจุในลังกระดาษ ห้ามวางซ้อนกันเกิน 7 ชั้น
- ถ้าหุ้มกล่องนมด้วยพลาสติกห้ามวางกล่องนมซ้อนกันเกิน 5 ชั้น
- เมื่อจัดเรียงกล่องนมเรียบร้อยห้ามวางสิ่งของวางทับบนกล่องนม
การเก็บรักษาคุณภาพนมโรงเรียนแบบพาสเจอร์ไรส์ หลังตรวจนับ
1. ตรวจสภาพนมพาสเจอร์ไรส์ หากถุงนมปกติไม่พอง ไม่รั่ว ให้บันทึกวันรับนมในแบบฟอร์ม และตรวจดูสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ดูวันหมดอายุที่รอยตอกบนตะเข็บถุงนม หากไม่มีระบุส่งคืน
- วัดอุณหภูมินม หากอุณหภูมิสูงกว่า 8 องศาเซลเซียส ไม่รับนมทั้งหมด หากอุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส นำนมไปตรวจลักษณะทางกายภายต่อไป
- สุ่มเลือกนมถุงมาตรวจสภาพสี กลิ่น ลักษณะอื่น ๆ เช่น มียางเหนียว มีตะกอน มีการแยกชั้น หรือไม่ ถ้ามีส่งคืน
2.ตรวจสภาพถังเก็บนม ต้องล้างถังทำความสะอาดก่อนบรรจุถุงนมลงถัง และสถานที่วางถังต้องไม่สะอาดแสงแดดส่องไม่ถึง
3.ตรวจสอบความถูกต้องในการบรรจุนมลงถัง ตรวจสอบน้ำแข็งที่ใช้ทำความเย็นว่ามีปริมาณเหมาะสมกับจำนวนนมหรือไม่ ไม่นำอาหารสดมาแช่รวม ไม่นำน้ำแข็งที่ใช้แช่มารับประทาน
4.ห้ามเปิดฝาถังจนกว่าจะถึงเวลาการบริโภค ควรมีการล็อคลัง
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับกระบวนการวิธีการเก็บรักษานมโรงเรียนที่มีมาตราการเข้มงวด และแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนแจกจ่ายให้แก่ทุกโรงเรียนนำไปปฎิบัติ เมื่อรู้กันอย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงจะเริ่มวางใจกันได้บ้าง ในการที่ลูก ๆ จะดื่มนมโรงเรียน เพราะเราคงแย้งไม่ได้ว่า คุณประโยชน์ของนมนั้นมีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
นมเป็นอาหารที่มากด้วยคุณค่าที่ร่างกายของลูกต้องการ ดังนั้นการให้เขาได้รับสารอาหารจากนมจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่าให้ความระแวงสงสัยมาทำให้ลูกเราไม่ได้รับคุณค่าทางสารอาหารจากนมกันเลย วิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความระแวงสงสัยในคุณภาพของนมโรงเรียนนี้ คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบ สอบถาม หรือสอนลูกในการสังเกตนมก่อนดื่ม เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการที่ลูกต้องดื่มน้ำนมที่เสื่อมสภาพ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงไปได้เช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.fda.moph.go.th/ FB:หมอแล็บแพนด้า
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อุทาหรณ์..แม่เตือน ล้างขวดนม ผิดวิธี เสี่ยงทำลูกติดเชื้อในกระเพาะอาหารได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่