ซีอิ๊วขาว กับ ซอสปรุงรส คุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่าต่างกันอย่างไร เลือกปรุงกับอาหารชนิดใด แบบไหนอร่อยกว่ากัน Amarin Baby & Kids จะคลายทุกข้อสงสัย พร้อมแบไต๋ให้แม่รู้จักกับเครื่องปรุงยอดฮิตทั้งสองอย่างนี้ให้มากขึ้น พร้อมเทคนิคการเลือกใช้ให้ปลอดภัย ไม่เค็ม และเหมาะกับเจ้าตัวน้อย
ซีอิ๊วขาว กับ ซอสปรุง ต่างกันยังไง แบบไหนอร่อยและดีต่อสุขภาพลูกน้อย
หากคุณแม่ลองสำรวจในครัวที่บ้านมักพบว่ามีเครื่องปรุงรสวางอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องปรุงรสเค็ม ทั้ง น้ำปลา เกลือ น้ำมันหอย ซอสผัด ซอสหมัก ซีอิ๊วขาว และซอสปรุงรส เครื่องปรุงรสที่แม่ๆเลือกใช้ทำอาหารให้ลูกน้อยก็หนีไม่พ้นซีอิ๊วขาว กับซอสปรุงรส เพราะดูเหมือนจะไม่เค็มน้อยกว่าน้ำปลา กับเกลือ
การปรุงอาหารสำหรับคนในครอบครัวโดยทั่วไป สามารถเลือกใช้เครื่องปรุงรสเค็มได้หลากหลายตามต้องการ อย่าง เมนูแกงจืดอาจใช้เกลือคู่กับซีอิ๊วขาว เมนูผัดอาจใช้ทั้งน้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว และซอสปรุงรสเพื่อความอร่อยกลมกล่อม แต่สำหรับลูกน้อย การปรุงรสอาหารยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น และไม่ควรปรุงรสอาหารให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ
ทำไมไม่ควรปรุงรสอาหารให้ลูกก่อน 1 ขวบ
แม้ทารกวัย 6 เดือนขึ้นไปจะเริ่มกินอาหารเสริมอย่าง ข้าว เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แต่การปรุงอาหารให้ลูกในวัยนี้อาจยังไม่เหมาะสมนัก เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยที่พร้อมเรียนรู้รสชาติของอาหารตามธรรมชาติ รสจืดๆของผัก รสหวานอ่อนของข้าวโพด หรือรสเปรี้ยวของน้ำส้ม การปรุงรสมากเกินไปอาจรบกวนประสาทสัมผัสดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งผลเสียด้านอื่นๆ ดังต่อไปนี้
- ไตของทารกยังทำงานไม่เต็มที่
อวัยวะภายในและระบบต่างๆของทารกช่วงขวบปีแรก จะยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หากได้รับโซเดียมจากรสเค็มมากเกินไป กลายเป็นภาระให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขับโซเดียมส่วนออก หากกินเค็มจัดเป็นเวลานานจะทำให้ไตเป็นพิษ จนลูกอาจมีอาการเซื่องซึม ชัก และสมองบวมได้
- ติดอาหารรสจัดเมื่อโตขึ้น
เวลาลูกกินน้อย ผู้ใหญ่มักกังวลว่าเป็นเพราะ “อาหารไม่อร่อย” จึงพยายามปรุงแต่ง เติมรสสารพัดให้ดูน่ากิน หากกินรสหวานหรือเค็มจนเคยชิน ทำให้กลายเป็นคนติดรสจัด กินอะไรก็ต้องเหยาะน้ำปลา เติมน้ำตาล ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต จากโรคภัยที่ตามมาเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- กินผักน้อยหรือไม่กินเพราะความจืด
วิตามิน เกลือแร่ และกากใยอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยการทำงานของระบบขับถ่ายมีอยู่ในผักต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีรสชาติ หากลูกติดอาหารปรุงรส จะไม่อยากกินผักเพราะรู้สึกว่าไม่อร่อย ทำให้บดบังโอกาสที่ลูกจะได้รับสารอาหารที่ดีไปด้วย
- ติดขนมกรุบกรอบ
ขนมกรุบกรอบที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่มีรสค่อนข้างเค็ม เด็กที่กินอาหารเค็มจนเคยชินมักจะชอบกินขนมพวกนี้ จึงได้รับสารอาหารปรุงแต่งไม่พึงประสงค์เข้าไปด้วย เช่น ผงชูรส สารกันปูด วัตถุแต่งสีและกลิ่นต่างๆ
หากลูกวัยทารกกินน้อย หรือไม่ยอมกินข้าว ขอให้คุณแม่ลองใช้วิธีอื่นในการกระตุ้นให้ลูกอยากอาหารแทน เช่น ให้ลูกลองกินอาหารทีละอย่าง ครั้งละน้อยจนเจอรสชาติโปรด สร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้มีความสุข และหัดให้ลูกกินข้าวเป็นเวลา เพื่อให้ลูกค่อยๆเรียนรู้สิ่งเหล่านี้และกินอาหารได้มากขึ้นเองก่อนจะมุ่งแก้ด้วยการปรุงรสอาหารเพียงอย่างเดียว
อ่านต่อ ซีอิ๊วขาวกับซอสปรุงรสเหมือนหรือต่างกันอย่างไร คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่