กินเจห้ามกินอะไรบ้าง กินเจกินอะไรได้บ้าง กินเจอย่างไรไม่ให้อ้วน ให้นมลูกกินเจได้ไหม เรื่องควรรู้ก่อนถือศีลกินเจ กินอย่างไรให้ได้บุญ พร้อมสุขภาพดี
กินเจห้ามกินอะไรบ้าง กินอย่างไรไม่ทำลายสุขภาพ เรื่องควรรู้ก่อนถือศีลกินเจ!!
เทศกาลกินเจ วนมาถึงอีกแล้ว เทศกาลบุญที่วนกลับมาประจำทุกปี ประเพณีของคนเชื้อสายจีนในประเทศไทย ที่ยึดถือสืบทอดประเพณีกันมา โดยที่มาที่ไปของประเพณีนี้ว่ากันว่า เริ่มรู้จักการกินเจกันที่แรก คือ จังหวัดภูเก็ต โดยคนจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) แต้จิ๋ว และซัวเถา ได้เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองไทย บริเวณพื้นที่หมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวนมาก และได้นำเอาประเพณีกินเจ กินผัก หรือ เจี๊ยะฉ่าย เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเต๋า (ลัทธิเต๋า) ที่พวกเขานับถือ โดยพวกเขามีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าประจำตระกูลหรือเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน หากมีเหตุเภทภัยอันใดเกิดขึ้น ก็จะแก้เคล็ดด้วยการอัญเชิญเทพเจ้าแต่ละพระองค์ที่ตนนับถือ มาบูชากราบไหว้เพื่อให้คุ้มครองปกป้องรักษาตน พร้อมกับการถือศีลกินผัก งดบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด งดทำบาปเพื่อส่งผลให้เภทภัยต่างๆ หายไป โดยมักจะกินเจ 9 วัน เพราะถือว่าเป็นการบูชา 9 เทวกษัตริย์ ที่เชื่อว่าจะมารับเคราะห์หรือเภทภัยต่างๆ แทนมนุษย์
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ข้อ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ช่วงหลังจึงเรียกคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “กินเจ” ไปด้วย แต่ถึงกระนั้นการกินเจไม่ใช่เพียงแต่งดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมถึงการรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ อีกด้วย
แต่อีกหนึ่งที่มาของการกินเจที่น่าสนใจ คุณจิตรา ก่อนันทเกียรติ นักสะสมความรู้เรื่องจีน บอกว่า เป็นเรื่องจากทางการแพทย์จีน เนื่องจากก่อนที่สัตว์จะถูกฆ่านั้นมีความเครียดทำให้มีการหลั่งสารพิษออกมา ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็สะสมสารพิษจากเนื้อสัตว์ที่กินเข้าไปตลอดทั้งปี ทางการแพทย์จีนเชื่อว่าหากหยุดกินเนื้อสัตว์สัก 9-10 วันต่อปีได้ จะช่วยสลายสารพิษเหล่านี้ออกไปบ้าง และทำให้อายุยืนขึ้น
กินเจห้ามกินอะไรบ้าง ??
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การกินเจไม่ใช่เพียงแต่การงดเว้นรับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกจิตใจ บำเพ็ญรักษาศีล จึงเรียกได้ว่าเป็น การถือศีลกินเจ นั่นเอง ดังนั้นธรรมเนียมปฎิบัติของผู้ที่ต้องการถือศีลกินเจ จึงมิใช่เพียงแค่การรับประทานผัก ละเว้นเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีข้อปฎิบัติที่แตกต่างจากการรับประทานมังสวิรัติอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้
- งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ที่ได้มาจากการเบียดเบียนสัตว์ เช่น นม เนย ไข่ ไขมันสัตว์ น้ำผึ้ง เป็นต้น
- งดเว้นการกินผักที่มีกลิ่นฉุน หรือผักที่มีกลิ่นแรง ซึ่งผักเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ที่ถือศีลกินเจทำให้มีจิตใจที่เร่าร้อน ขัดขวางการรักษาศีล ผักต้องห้ามทั้ง 5 ชนิด ได้แก่
- กระเทียม (หัวกระเทียม, ต้นกระเทียม)
- หัวหอม และพืชตระกูลหอม หัวหอมใหญ่ หอมแดง ต้นหอม (บางคนอาจจะรวมผักชีด้วย)
- หลักเกียว หรือ กระเทียมโทนจีน
- กุยช่าย
- ใบยาสูบ (บุหรี่, ยาเส้น, ของเสพติดมึนเมา)
- งดเว้นการใช้ เครื่องปรุงรส ที่เป็นผลผลิตที่มาจากสัตว์ มาประกอบอาหาร เช่น น้ำปลา น้ำมันหอย ผงชูรส ผงปรุงรสหมู และไก่ เป็นต้น
- งดเว้นการกินอาหารที่มีรสจัด เน้นอาหารรสชาติอ่อน ๆ เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด เค็มจัด ไม่ปรุงแต่งรสชาติมากเกินไป เพราะถือว่าจะเข้าไปทำลายสุขภาพร่างกาย เป็นการฝึกให้จิตใจไม่ยึดติดกับรสชาติ
- งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และของมึนเมาทุกชนิด
- ห้ามกินอาหารที่คนปรุงไม่ได้ถือศีลกินเจ
- ถ้วยชาม ภาชนะใส่อาหารจะต้องไม่ปะปนกันกับคนที่ไม่ได้กินเจ
กินเจแตกต่างจากมังสวิรัติ อย่างไร??
มังสวิรัติแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ มังสวิรัติแบบไม่เคร่งครัดที่สามารถบริโภคนม และไข่ได้ ส่วนอีกประเภทคือมังสวิรัติแบบเคร่งครัด ซึ่งจะมีความคล้ายกับการกินเจตรงที่งดเว้นเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหมือนกัน แต่มังสวิรัติจะสามารถนำผักทุกชนิดมาปรุงได้ ในขณะที่อาหารเจมีการปรุงอาหารที่เข้มงวดกว่า เช่น งดผักที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงยังต้องรักษาศีลให้จิตใจบริสุทธิ์ด้วย
อ่านต่อ >>กินเจอย่างไร ไม่ทำลายสุขภาพ แม่ให้นมกินเจได้ไหม คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่