ไอพีดี (IPD, invasive pneumococcal disease) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง พบบ่อยในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เสียชีวิตได้ เราจะสามารถป้องกันการเกิด ไอพีดี ได้อย่างไร เรามีคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากค่ะ
ไอพีดี (IPD, invasive pneumococcal disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง ประกอบด้วยโรคสำคัญสองโรค ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงโรคปอดบวมที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคไซนัสอักเสบอีกด้วย
ความสำคัญของไอพีดี
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสพบได้บ่อยและมีโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรงในผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองได้
ในปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อต่อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ในอดีตเคยใช้ได้ผลดีอย่างยาเพนนิซิลิน ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและไอพีดีมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น
อาการของผู้ป่วยไอพีดี
อาการของผู้ป่วยไอพีดีแตกต่างกันตามประเภทของอวัยวะที่ติดเชื้อและอายุของผู้ป่วย
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง และอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ซึมลง ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้
- โรคปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ไอ และเหนื่อยหอบ อาการของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่
ติดตามอ่านการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยไอพีดี ได้ที่หน้า 2