6. กรณีไหนบ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้?
- รักษาภาวะมีบุตรยาก / ผสมเทียม
- เปลี่ยนเพศ / การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์
- การตรวจวินิจฉัย และรักษา ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง
- การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัท หรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย
- การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดยกเว้นผู้ติดเฮโลอีนที่สมัครใจเข้ารับการรักษา และไม่ต้องโทษคดียาเสพติด ให้ได้รับสารทดแทนยาเสพติด (เมทาโดน) จากหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนได้
- โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในฐานะผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วันยกเว้น กรณีต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การเปลี่ยนอวัยวะ (Organ Transplantation) ยกเว้น การปลูกถ่ายหัวใจ , ปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และปลูกถ่ายตับในเด็ก(อายุไม่เกิน 18 ปี) ที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด
7. สามารถใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า?
สามารถใช้สิทธิได้ 2 กรณี คือ
- กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการที่กระทบต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ, สมอง, ลมหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น หัวใจหยุดเต้น , หอบรุนแรง , มีอาการเขียวคล้ำ , หมดสติไม่รู้สึกตัว , สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลม , มีอาการวิกฤตจากอุบัติเหตุ , มีเลือดออกมากห้ามไม่หยุด , ภาวะขาดน้ำรุนแรง , แขน / ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก , ชัก , มีอาการวิกฤตจากไข้สูง , ปวดท้องรุนแรง เป็นต้น โดยสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และไม่ต้องสำรองจ่าย
- กรณีรักษาแพทย์เฉพาะทาง จำเป็นต้องติดต่อแจ้งความจำนงกับโรงพยาบาลที่จะขอใช้สิทธิก่อนว่าสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ แล้วแต่กรณีไป
8. หากอยู่ต่างจังหวัด แต่อยากใช้สิทธิบัตรทองกับโรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถใช้สิทธิได้เลย แต่หากจะรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ จำเป็นต้องมีใบส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่
9. ย้ายบ้านโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แต่อยากจะย้ายหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลที่จะใช้สิทธิ สามารถทำได้หรือไม่?
สามารถทำได้ โดยนำบัตรประชาชนไปติดต่อด้วยตนเองที่หน่วยบริการ, โรงพยาบาลที่ต้องการใช้สิทธิ หรือสำนักงานเขตกทม.ในวันเวลาราชการ และสามารถเปลี่ยนสิทธิได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (1 ต.ค. -30 ก.ย.ของปีถัดไป)
10. หากใช้สิทธิบัตรทอง คุณภาพยาและการรักษาที่ได้รับจะเหมือนหรือเท่าเทียมกับการจ่ายเงินหรือเปล่า?
มาตรฐานการรักษาพยาบาล และยาที่ใช้จะเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ถ้าคุณใช้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ หรือคลินิกพิเศษ ที่ต้องจ่ายเงินเอง ก็อาจให้ความสะดวกและรวดเร็วในการใช้บริการมากกว่า
สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม, สวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ การใช้สิทธิประกันสุขภาพ / สิทธิบัตรทอง ก็ถือเป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้ เพื่อช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลไปได้มาก