วิธีสังเกตอาการฟันผุในเด็ก
โรคฟันผุในเด็กมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กมีฟันน้ำนมซี่แรก โดยมีสาเหตุมาจากการดูแลช่องปากของเด็กที่ไม่สะอาดหรือการปล่อยให้เด็กนอนไปพร้อมกับขวดนมก็ทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสของฟันผุได้มากขึ้น สำหรับเด็กที่โตขึ้นจะเริ่มมีการกินขนมหวาน และขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพิ่มขึ้นก็ยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสฟันผุสูงขึ้นหากไม่ได้รับการทำควาสะอาดเป็นประจำอย่างถูกวิธี โดยจากการสำรวจสถานการณ์ฟันผุในเด็กไทยพบว่าเด็กเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และพบว่าเด็กอายุ 3 ปีมีฟันผุเฉลี่ยถึง 3 ซี่ต่อคน
เราสามารถสังเกตฟันผุในระยะเริ่มแรกของเด็กได้จาก
- รอยสีขาวขุ่นบริเวณคอฟัน
- มีจุดสีดำหรือสีน้ำตาลเล็กๆ บนผิวฟัน
และเมื่อพบรูผุที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเด็กจะมีอาการปวดฟัน หรือเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำเย็น น้ำร้อน หรือของหวาน ควรได้รับการรักษาโดยการอุดฟัน ซึ่งเมื่อฟันผุลุกลามจนเกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน เด็กจะปวดฟันมากจนนอนไม่หลับ ต่อมาจะเกิดหนอง ถึงขั้นนี้ก็คงจะต้องทำการรักษารากฟันเด็ก หรือ ถอนฟันเด็ก
ผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการจากโรคฟันผุ
อาการปวดฟันจะมีตั้งแต่ปวดน้อยไปจนถึงปวดมากจนเด็กไม่สามารถใช้กัดหรือเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติ เมื่อเด็กเริ่มมีอาการปวดฟันมากขึ้นจะทำให้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเด็กจะมีความอยากอาหารน้อยลงหรือเลือกกินมากขึ้น ส่งผลให้เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเมื่อเด็กปวดฟันมากจนนอนไม่หลับก็จะกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth hormone) เหล่านี้จะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก
ในเด็กที่มีฟันผุลุกลามมาก สามารถพบการติดเชื้อและเป็นหนองลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น แก้ม ดวงตา และสมอง หรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้โรคฟันผุยังทำให้เด็กเกิดปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ด้วย การมีฟันผุทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการพูดเนื่องจากฟันมีการเปลี่ยนสีหรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ หรือการที่เด็กต้องถอนฟันน้ำนมออกก่อนที่ฟันแท้ขึ้นก็ส่งผลต่อฟันที่กำลังงอกใหม่ให้มีการล้มเอียงส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
พ่อแม่ไม่บังคับลูกแปรงฟัน สุดท้ายต้องถอนฟัน
เลิกนมมื้อดึก และฝึกหลับยาว สำหรับลูกน้อยวัยเด็กเล็ก
ฝึกลูก ” เลิกขวดนม ” ง่ายๆ ภายใน 1 ขวบ!! ป้องกันฟันผุ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ทพ.เสถียร สุรวิศาลกุล, ไทยรัฐ, กรมอนามัย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่