โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและบีซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายในสถานศึกษา พบโรคได้บ่อยในเด็กทุกวัยและในผู้ใหญ่ และพบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง มีอาการหวัด และปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ
การรักษา
การดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยการเช็ดตัวและกินยาลดไข้ ห้ามกินยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ดื่มน้ำให้เพียงพอและพักผ่อนมากๆ
เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น อายุน้อยกว่า 2 ปี น้ำหนักตัวมาก มีโรคประจำตัวบางอย่าง (โรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ) เด็กที่มีอาการปอดบวมแทรกซ้อน ไข้ไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
การป้องกัน
ไม่ควรส่งลูกเข้าเรียนก่อนวัยอันควร พยายามให้ลูกอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและสะอาด ถ้าลูกอยู่ในวัยที่ไปโรงเรียนแล้วอาจจะให้ลูกหยุดเรียนเพื่อป้องกันการนำเชื้อหวัดไปแพร่กระจายสู่เพื่อนและลดโอกาสรับเชื้อหวัดเพิ่ม หรือถ้าจะยังคงไปโรงเรียนก็ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม แต่อย่างไรก็ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะมีประโยชน์ในการป้องกันโรค และควรฉีดทุกปีเพราะเชื้อที่แพร่ระบาดในแต่ละปีเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
ส่วนผู้ดูแลควรทิ้งกระดาษที่ใช้เช็กน้ำมูกหรือเสมหะลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ที่สำคัญควรล้างมือก่อนและหลังสัมผัสกับผู้ที่เป็นหวัดทุกครั้ง
⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕⊕
โรคมือเท้าปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด เชื้อไวรัสที่สำคัญคือเอนเตอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 พบการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากได้บ่อยในเด็กวัยอนุบาลและวัยประถม
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากจะมีอาการไข้ แผลในช่องปากซึ่งมีอาการเจ็บ และพบตุ่มใสที่ฝ่ามือฝ่าเท้า โรค มือ เท้า ปาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่รุนแรงได้ แต่พบน้อยมาก
การรักษา
การรักษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากเป็นการรักษาตามอาการ เช็ดตัวและกินยาลดไข้ แผลเจ็บในช่องปากทำให้ดีขึ้นโดยการดื่มน้ำเย็นนมเย็น อมน้ำแข็งหรือกินไอศกรีมก่อนรับประทานอาหาร และอาจให้ยาชาทาเฉพาะที่ร่วมด้วยก็ได้
เด็กที่มีไข้สูงหรือเป็นนานเกิน 2-3 วัน มีอาการง่วงซึม อาเจียน กระสับกระส่าย ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
การป้องกัน
- หมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ของเด็กทุกชิ้น โดยการทำความสะอาดด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป หลังจากนั้นควรเช็ดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แห้งสนิท
- ระมัดระวังสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร รวมทั้งของใช้ทุก ๆ อย่างที่เด็กอาจหยิบเข้าปากได้
- ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่น หรือใช้ของที่ปนเปื้อนน้ำลาย หากเป็นไปได้ไม่ควรให้เด็กใช้ของใช้ร่วมกัน
- ควรสอนให้เด็ก ๆ ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ที่สำคัญทางโรงเรียนไม่ควรให้เด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปากมาโรงเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติดี ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
อ่านต่อ >> “โรคติดเชื้อ ที่ลูกมักติดจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่