เข้าฤดูฝนแล้ว เด็กๆ ป่วยบ่อย ซึ่ง โรคที่มากับหน้าฝน เป็นโรคสุดฮิต มีทั้ง rsv, มือเท้าปาก, ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก แล้วแต่ละโรคจะมีอาการอย่างไร พ่อแม่ควรรู้ จะได้รับมือทัน!
อาการ 4 โรคฮิต ช่วงหน้าฝน สังเกตลูกให้ดี!!
เมื่อถึงเดือน สิงหาคม-กันยายน ก็เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแบบเต็มตัว ฝนตกทุกวัน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นเพิ่ม ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดย โรคที่มากับหน้าฝน พบบ่อยส่วนมากในช่วงฤดูฝนมีหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจกลุ่ม โรคติดต่อทางน้ำดื่มและอาหาร กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลและเยื่อบุผิวหนัง รวมถึงโรคมือเท้าปากที่มักพบบ่อยในเด็ก ซึ่งในครั้งนี้ พญ.เบญจวรรณ สังฆะวะดี แพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลบางปะกอก 9 จะมาแนะนำคุณพ่อคุณแม่เฉพาะอาการเจ็บป่วยในเด็กช่วงหน้าฝน กับ 4 โรคฮิต ได้แก่
โรคมือเท้าปาก
เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus , Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรค เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอนุบาล
โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็น โรคที่มากับหน้าฝน เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปีเพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น แนะนำให้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีก่อนเข้าฤดูกาลระบาดของโรค
โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบการระบาดสูงในช่วงฤดูฝน เพราะมีบริเวณน้ำขังอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อาการที่บ่งบอกว่าเป็นไข้เลือดออก คือ ไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส) อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง (โดยเฉพาะด้านขวาบน) คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีเลือดออกที่ตำแหน่งต่าง ๆ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขนขาลำตัว
RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus
เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ อาจมีอาการรุนแรงในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคปอด โรคหัวใจ
ไวรัส RSV ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือการสัมผัส อาการที่พบได้แก่ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการหอบ เหนื่อย จากการอักเสบของหลอดลมและปอด
การป้องกัน โรคที่มากับหน้าฝน ให้ลูกน้อย สามารถทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่น ๆ อยู่แล้ว จะต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย
- ควรดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
รวมไปถึงการฉีดวัคซีน และการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำปี เพราะหากร่างกายมีเกราะป้องกันที่แข็งแรง หรือมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็ทำให้ชีวิตของคุณห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆได้ หรือหากมีการติดเชื้อก็อาจมีความรุนแรงน้อยลง รวมถึงโอกาสในการรักษาก็เพิ่มสูงขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิงเบญจวรรณ สังฆะวะดี
แพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลบางปะกอก 9
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 (bpk9internationalhospital.com)
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก