กรมควบคุมโรคแนะ! 6 ขั้นตอนคัดกรองเด็กป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อากาศเย็นลงและมีความชื้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ประกอบกับสถานศึกษาเปิดเรียนเป็นปกติ เด็กอาจมีการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งโรคดังกล่าวมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ดังนั้น สถานศึกษาต้องมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วย โรคมือ เท้า ปาก ค่ะ
สถิติโรคมือ เท้า ปาก ล่าสุด
สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานพบผู้ป่วย 258 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 2 ปี (ร้อยละ 24.81) อายุ 1 ปี (ร้อยละ 24.03) และ อายุ 3 ปี (ร้อยละ 12.40) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงราย พะเยา น่าน จันทบุรี และอ่างทอง ตามลำดับ
สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้างค่ะ
อาการของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง ดังนี้
- มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
- ไอ เจ็บคอ
- ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย
- มีตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก
- เด็กวัยแรกเกิดและเด็กเล็กวัยหัดเดินจะมีอาการงอแงไม่สบายตัว
โดยอาการจะเริ่มจากมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน
ขอบคุณภาพจาก Infectious ง่ายนิดเดียว
ตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่เกิดขึ้นภายในปาก อาจเกิดได้ทั้งบริเวณปากด้านนอกและด้านใน บนริมฝีปาก ในลำคอ บนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ตุ่มแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลืนน้ำดื่มหรืออาหาร และตุ่มพองน้ำกับผื่นเป็นจุด ๆ จะเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้าและบางครั้งก็พบที่บริเวณก้นและขาหนีบด้วยเช่นกัน
ตุ่มและแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายเป็นอีสุกอีใส แต่มีขนาดเล็กกว่า บางครั้งทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และไม่สบายตัว แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน
ขอบคุณภาพจาก Infectious ง่ายนิดเดียว
การรักษาโรคมือ เท้า ปาก
ในปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยตรง แต่เป็นการรักษาอาการทั่ว ๆ ไปตามแต่อาการที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
นายแพทย์โอภาส เน้นให้สถานศึกษา สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้
- คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้าอย่างเคร่งครัด
- ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ
- สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น
- จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรมหรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
- หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ก่อนมาเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่บ้าน ส่วนโรงเรียนหากพบเด็กป่วย ให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้คุณพ่อคุณแม่รับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมทั้งให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่น งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
วิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ นะคะคุณพ่อคุณแม่ ขอให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการลูกร่วมกับทางโรงเรียนเพื่อป้องกันลูกของเราจากมือเท้าปากค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?