8 คำถามที่พ่อแม่ควรถามเภสัชกร!
“เมื่อรับยา ตอน ลูกป่วย“
1. เป็นยาอะไร และยานี้ใช้แก้รักษาอะไร
2. ขนาดยาและวิธีรับประทาน ยานี้กินอย่างไร เช่น กี่เม็ด กี่มื้อ ก่อนอาหาร หลังอาหาร พร้อมอาหาร ก่อนนอน
3. ถ้าลืมกินยา จะทำอย่างไร
4. ยานี้จะเกิดอาการข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร และหากเกิดอาการแพ้ยา ควรทำอย่างไร
5. จะต้องใช้ยาไปนานเท่าใด
6. จะเก็บยานี้ไว้ที่ไหนได้บ้าง
7. กินยานี้ตอนท้องว่างหรือหลังอาหาร ถึงจะดี
8. กินยานี้กับนมหรือน้ำส้มได้หรือไม่
ที่สำคัญคุณแม่ต้องดูฉลากยา ว่ามีลักษณะที่บอกข้อมูลชัดเจนหรือไม่ เพราะหากไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัยให้รีบถามเภสัชกรทันที เช่น กินเฉพาะเวลาเกิดอาการ หรือต้องกินให้หมดตามที่คุณหมอหรือเภสัชกรจ่ายยาให้ และหากให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง นอนหลับไปแล้วยังต้องตื่นมากินหรือไม่
หากเป็นยาน้ำ ควรมีช้อนตวงยาหรือหลอดฉีดยามาให้ด้วย ซึ่งจะตวงยาน้ำได้ในปริมาณที่แม่นยำ ไม่ควรใช้ช้อนในครัวตวงยาน้ำ เพราะปริมาณยาที่ได้จะไม่เท่ากัน แม้จะเรียก 1 ช้อนโต๊ะเหมือนกัน
และนอกจากคำถามที่คุณแม่ควรถามแล้ว เพื่อให้ลูกน้อยได้รับยาที่เหมาะสมและสะดวกในการใช้ คุณแม่ก็ควรบอกเภสัชกร เกี่ยวกับโรคประจำตัวที่ลูกน้อยเป็นอยู่ด้วย รวมไปถึงยาที่กำลังใช้อยู่ และตัวยาที่ลูกแพ้ หรือปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาที่ลูกมี เช่น กลืนยายากลำบาก ก็ควรปรึกษากับเภสัชกรตรงนั้นเลย
Must read : ยาหมดอายุ-เสื่อมคุณภาพ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม! พร้อมวิธีสังเกตและตรวจสอบยาเสื่อมสภาพ
ข้อควรพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก
- ไม่ควรให้ลูกน้อยใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรงสามารถปล่อยให้อาการทุเลาเองได้
- ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง โดยพยายามเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆโดยไม่จำเป็น
- ต้องอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยาและสังเกตลักษณะของยาว่ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากคุณหมอหรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็ก ซึ่งยาประเภทดังกล่าวจะหมดอายุเร็วกว่ายาประเภทยาเม็ด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กที่กินยานั้นได้
- หากเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ให้เลือกใช้ยาเม็ดดีกว่ายาน้ำ เพราะนอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังพกพาสะดวกและหมดอายุช้ากว่าด้วย สำหรับยาฉีดควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งให้ฉีดยาและฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากยาฉีดมีโอกาสแพ้แบบช็อก (Anaphylaxis) อย่างรุนแรงมากกว่ายาชนิดอื่น
และเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ถึงข้อควรพิจารณาเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องรู้อีกหนึ่งเรื่อง คือทำไมการให้ยาในเด็กจึงต้องมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่?
เหตุผลที่ทำให้การให้ยาในเด็กแตกต่างจากการให้ยาในผู้ใหญ่
- การดูดซึมยาเข้าร่างกาย เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กมีสภาวะความเป็นกรดน้อยกว่าและการบีบตัวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การดูดซึมยาได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
- การเผาผลาญทำลายยาและการขับถ่ายยา เนื่องจากตับและระบบเอ็มไซม์ต่างๆของเด็ก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้กระบวนการทำลายยาไม่ดีเท่าผู้ใหญ่
- น้ำหนักตัว ส่วนสูง และพื้นที่ผิวของร่างกาย เนื่องจากปกติเด็กจะมีน้ำหนักตัว ส่วนสูง และ พื้นที่ผิวของร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การให้ยาในเด็กจึงมีขนาดยาที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย โดยการคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวของเด็กเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและมีความแม่นยำสูง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีพ่อแม่หลายคนอาจเคยสับสนเมื่ออ่านเอกสารเกี่ยวกับยาของเด็ก เช่น เด็กแรกเกิด เด็กอ่อน ทารก เด็กเล็ก หรือเด็กโต เขาแบ่งกันอย่างไร เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงควรทราบ คำนิยามที่ควรรู้เหล่านี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับเด็ก ดังนี้
- เด็กแรกเกิด (New Born) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 4 สัปดาห์
- เด็กอ่อนหรือทารก (Infant) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 1 ขวบ
- เด็กเล็ก หมายถึง เด็ก 1 ขวบถึง 6 ขวบ
- เด็กโต หมายถึง เด็ก 6 ขวบ ถึง 12 ขวบ
- สำหรับเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถให้ยาได้เหมือนกับผู้ใหญ่
สิ่งที่สำคัญมากที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ยากับเด็ก ก็คือ ข้อควรระวังและข้อห้ามต่างของยาแต่ละชนิดเพราะหากมองข้ามประเด็นเหล่านี้แล้ว การให้ยาเพื่อรักษาอาจแปรเปลี่ยนเป็นการซ้ำเติมเด็กให้มีอาการเลวร้ายมากขึ้นและในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ”คลิก!
- วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง
- “ยาฝาแฝด” ภายนอกเหมือน สรรพคุณแตกต่าง พ่อแม่ระวังใช้ผิด ลูกน้อยเสี่ยง อันตรายถึงชีวิต
- เตือน! ยาลดไข้ ใช้ผิดวิธีอันตรายถึงชีวิตลูก
อ่านต่อ >> “ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่