ในปัจจุบันคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องทำงานนอกบ้านและเดินทางอยู่ตลอดเวลา นอกจากรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาตามมาตรฐานและตอบโจทย์ตามความต้องการของเหล่าคุณแม่หัวคิดทันสมัยที่ให้ความสำคัญเรื่องความ ปลอดภัย มาเป็นอันดับหนึ่งแล้ว การป้องกันที่ถูกต้องในระหว่างการเดินทางจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่สุดเช่นกัน
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนีมีคำแนะการเดินทางใช้รถสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งวิศวกรออกแบบรถยนต์ฟอร์ดได้ทำความเข้าใจถึงความต้องการและข้อจำกัดของผู้ขับขี่ที่เป็นสตรีมีครรภ์ เพื่อออกแบบรถยนต์ให้เหมาะสมและสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ด้วยการใช้ชุดจำลองสภาวะการตั้งครรภ์ที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษมีน้ำหนักรวมกันมากถึง 12 กิโลกรัม เพื่อจำลองถุงน้ำคร่ำ อุปสรรคและความรู้สึกกระอักกระอ่วนขณะเคลื่อนไหวร่างกายของคุณแม่ รวมทั้งท่าทางลักษณะการพักผ่อนต่างๆ ของทารกน้อยในครรภ์
ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงระยะเวลาของการตั้งครรภ์ อาการที่สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับรถของคุณแม่ในช่วงระยะการตั้งครรภ์ ได้แก่ อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดหลังและภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้เกิดได้ทั้งจากทางพันธุกรรมและการนั่งอยู่กับที่นานๆ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอและหมั่นยืดขาเมื่อต้องเดินทางระยะไกล
ความ ปลอดภัย ในรถยนต์
ก่อนออกเดินทางคุณแม่ควรใช้เข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้องและจัดตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดในแนวทะแยงให้พาดอยู่ระหว่างหน้าอกลงไปตามแนวโค้งของท้อง โดยพาดสายเข็มขัดในแนวนอนให้อยู่เหนือต้นขาและกระดูกเชิงกราน หลังจากนั้นเสียบหัวเข็มขัดเข้ากับตัวล็อกและตรวจสอบอีกครั้งเพื่อไม่ให้สายเข็มขัดรัดแน่นมากจนเกิดความอึดอัดไม่สบายตัว อย่างไรก็ดี คุณแม่ควรป้องกันไม่ให้เข็มขัดนิรภัยขึ้นมาอยู่บริเวณหน้าท้องโดยเด็ดขาด
ระหว่างการขับรถคุณแม่ควรแวะจอดพักอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเคลื่อนไหวเท้าและหมุนข้อเท้าอย่างช้าๆ รวมถึงขยับนิ้วเท้า เนื่องจากการนั่งเป็นระยะเวลานานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำให้เท้าและข้อเท้ามีอาการบวมได้ง่าย การได้แวะจอดพักเพื่อยืดเส้นสายหรือทำกายบริหารจะช่วยให้เลือดไหลเวียนลงสู่เท้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และยังสร้างความผ่อนคลายทั้งแก่ตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และหากคุณแม่มีอาการปวดหลังในระหว่างการขับขี่ คุณแม่สามารถใช้หมอนอิงใบเล็กๆ หรือ ผ้าขนหนูพับทบกันวางหนุนหลัง เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นตลอดการเดินทาง
นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรับตำแหน่งเบาะนั่งและพนักพิงไปด้านหลังให้มากที่สุดแต่ยังอยู่ในตำแหน่งที่คุณแม่สามารถเหยียบคันเร่งและเบรกได้ไม่ลำบาก และอยู่ในระยะที่สามารถจับบังคับพวงมาลัยได้อย่างถนัดมือโดยระดับหน้าอกควรห่างจากพวงมาลัย หรือแผงหน้าปัดประมาณ 10 นิ้ว การนั่งในลักษณะดังกล่าวจะทำให้ท้องของคุณแม่อยู่ในตำแหน่งที่มีระยะห่างพอดีและป้องกันการกระแทกจากถุงลมนิรภัยหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด
สำหรับคุณแม่ในช่วงระยะไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถและเดินทางคนเดียวหากมีความจำเป็นต้องเดินทาง คุณแม่ควรนั่งที่เบาะหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยมากที่สุดในกรณีที่นั่งเบาะหน้า โปรดปรับตำแหน่งเบาะนั่งและพนักพิงไปด้านหลังมากที่สุด เพื่อป้องกันการกระแทกจากการทำงานของถุงลมนิรภัย
ในทุกๆ การเดินทาง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพกพาสำเนาระเบียนฝากครรภ์ติดตัวไปทุกที่ ซึ่งในสมุดจะรวบรวมข้อมูลจำเป็นต่างๆ ไว้ครบถ้วนตั้งแต่ประวัติการตั้งครรภ์ ผลการรักษาไปจนถึงเบอร์โทรติดต่อฉุกเฉิน
ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ประสบอุบัติเหตุเล็กน้อยและรู้สึกสบายดี คุณแม่ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะครรภ์ของคุณแม่อาจได้รับการกระทบกระเทือนและมีความเสี่ยงของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด(Placental Abruption)และการคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) ได้