เมื่อ เศษอาหารติดโพรงจมูก ลูกกับฝรั่งชิ้นเล็กแต่เรื่องใหญ่ - Amarin Baby & Kids
เศษอาหารติดโพรงจมูก

เมื่อ เศษอาหารติดโพรงจมูก ลูกกับฝรั่งชิ้นเล็กแต่เรื่องใหญ่

Alternative Textaccount_circle
event
เศษอาหารติดโพรงจมูก
เศษอาหารติดโพรงจมูก

เศษอาหารติดโพรงจมูก เรื่องของสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ แต่เกิดปัญหาไม่เล็กเลยสำหรับลูกน้อย คุณแม่ขอเล่าอุทาหรณ์เมื่อฝรั่งติดจมูกลูกในยามฉุกเฉิน แล้วเราควรจะทำยังไง

เมื่อ เศษอาหารติดโพรงจมูกลูก กับฝรั่งชิ้นเล็กแต่เรื่องใหญ่!!

สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก เศษอาหารติดโพรงจมูก มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  3  ปี  ซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจชอบค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจอันได้แก่  รูจมูก และปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นโต ให้ละเอียดเพียงพอ จึงอาจเกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหาร และวิ่งเล่นไปด้วย

อุทาหรณ์จากเรื่องจริง เมื่อฝรั่งติดจมูกลูก
อุทาหรณ์จากเรื่องจริง เมื่อฝรั่งติดจมูกลูก

วันนี้ ทีมแม่ ABK ได้รับเกียรตินำประสบการณ์จริงจากคุณแม่ท่านหนึ่งมาเล่าไว้เป็นอุทาหรณ์ให้แก่ครอบครัวอื่น ๆ ที่อาจเจอกับเหตุการณ์แบบเดียวกันกับคุณแม่ จะได้รับมือ และแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

**จากเหตุการณ์ที่เคยฟังมา และกลัวมากก็เกิดขึ้น
#บันทึกผลไม้เข้าไปติดในรูจมูก (ฝรั่ง)
“แม่ฝรั่งเข้าไปในจมูก เจ็บ ๆๆๆ”
คงไม่ได้พูดเล่นแน่ๆ ลองให้เงยหน้า อ้าวมีฝรั่งเข้าไปติดข้างในจริง ๆ ด้วย 🥺😱
สั่งจมูก ก็ไม่ออก ทำไงดี เอาไงดี
แวบเข้ามาในหัว มีคนรู้จัก เคยเล่าให้ฟัง ลูกบ่นเจ็บจมูกเลยล้างจมูกแล้วมีลูกปัดพุ่งออกมา ลองทำบ้าง
แต่!!น้ำเกลือที่บ้านหมดพอดี
ระหว่างนั้นส่องดูข้างในจมูก ฝรั่งหายไปแล้ว ลูกก็ดูไม่รู้สึกเจ็บหรืออะไรใดๆเลย แต่แม่ไม่วางใจ
โรงพยาบาล ต้องไปโรงพยาบาล
หยิบกระเป๋า อุ้มขึ้นรถพร้อมพี่ ขับฝ่าฝนที่กำลังตกลงมาอย่างหนัก
ช่วงเคอร์ฟิว ถนนค่อนข้างโล่ง แต่ฝนก็ตกลงมาหนักมาก ขับรถไป ปัดน้ำฝนไปแทบจะมองไม่เห็นอะไรเลย ระหว่างทางลูกร้องทุรนทุรายขึ้นมา แม่พยายามตั้งสติ แต่ก็คุมสติเกือบไม่อยู่ เจอไฟแดงรอ 100กว่าวินาที บอกตรง ๆ แม่รอไม่ไหว กับเสียงร้องที่ทุรนทุราย
ฝ่าไฟแดง
ไปถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล หมอเฉพาะทาง หู ตา จมูก ไม่มีช่วงกลางคืน มีแต่หมอประจำห้องฉุกเฉิน 😱😱แต่ก็โล่งใจที่มาถึงรพ.แล้ว ลูกก็ไม่ร้อง ทุรนทุราย ดูทุกอย่างดีขึ้น แต่เนื้อฝรั่งในจมูกส่องไม่เจอแล้ว หายไปอยู่ส่วนไหน??
X-ray ก็ไม่เจอเพราะเป็นผลไม้
หมอมาคุยกับแม่ต้องแอดมิทดูอาการ 1 คืน ก็แล้วแต่แม่ด้วยว่าจะแอดมิทมั้ย หมอในห้องฉุกเฉินโทรปรึกษาอาจารย์หมอเฉพาะทาง
ความหวังความโชคดี ก็เกิดขึ้น พยาบาลแจ้งมาว่าคุณหมอเฉพาะทางจมูกกำลังเดินทางจากบ้านมาที่โรงพยาบาลค่ะ
น้ำตาไหลเลย
คุณหมอมาถึงรีบเชตเครื่องมือในห้องตรวจ ส่องกล้องดูในจมูก เนื้อฝรั่งเคลื่อนย้ายไปลึกมาก เข้าในโพรงไซนัส😧
เหมือนจะมีหวังและโชคดี แต่ไม่ง่ายเลย ลูกต่อต้านมาก พยาบาล 2 คน กับแม่อีก 1 คน ช่วยกันจับ ลูกดิ้นจนหมอไม่สามารถคีบเอาเนื้อฝรั่งออกมาได้
“ต้องวางยาสลบครับ”
“จริงๆไม่อยากทำแต่สุดวิสัยน้องต่อต้านมาก หมอเอาออกไม่ได้”
หมอและทีมพยาบาลเตรียมเช็ทยา และเครื่องมือ
กำหนด ตี 2 (กินอาหารครั้งสุดท้ายตอน 2 ทุ่ม บวกลบเวลาเลยได้กำหนดตีสอง)
หมอเรียกเข้าห้องอีกรอบ ไม่อยากวางยาสลบ ลองคีบดูอีกครั้ง
เสียงไชโยลั่นห้อง เอาออกได้แล้ว ทุกคนดีใจมาก ไม่ต้องดมยาสลบแล้ว ได้กลับบ้านแล้ววววว
***ได้ความรู้จากหมอเฉพาะทางจมูกกรณีเด็กเล็กที่มีอะไรติดข้างในจมูกไม่แนะนำล้างจมูก อันตรายมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต***
ขอขอบคุณคุณแม่ เดอะไดอารี่ เบบี้เฌอร์ลิณญ์ ที่แบ่งปันเรื่องราว
เด็กชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก จมูก
เด็กชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก จมูก

วิธีปฏิบัติตัว เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดในรูจมูกของลูก

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันได้ตั้งตัว โดยเฉพาะเหตุการณ์ไม่คาดฝันมักเกิดขึ้นได้ง่ายกับเด็กเล็ก ดังนั้นเรามาเตรียมพร้อม ศึกษาวิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ลูกนำสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก หรือเศษอาหารติดโพรงจมูกลูกกันดีกว่า

ของชิ้นเล็ก ๆ กับเด็กวัยซน

ขึ้นชื่อว่าเด็กแล้ว ความซนย่อมเป็นของคู่กันเสมอ เพราะความซนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเจ้าตัวน้อย เมื่อเขาถึงวัยที่สามารถหยิบจับสิ่งของได้เอง สามารถกระทำอื่นใดกับสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง ก็ยิ่งเป็นที่ชอบใจของลูกน้อยเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสที่เจ้าตัวน้อยได้อยู่กับของชิ้นเล็กชิ้นน้อย จึงไม่พลาดเลยที่ลูกจะหยิบสิ่งของชิ้นเล็กน้อยพวกนั้นมาใส่ลงไปที่โน่นที่นี่ ในรูในช่อง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเอง!!

พ่อแม่มักจะนึกถึงเพียงแค่ว่า ลูกจะนำสิ่งของที่หยิบจับขึ้นมาได้เข้าปาก ทำให้ติดคอเป็นอันตรายได้ แต่รู้หรือไม่นอกจากปากแล้ว เจ้าตัวน้อยก็ชอบหยิบของชิ้นเล็ก ๆ เข้าจมูกด้วยเช่นกัน ซึ่งรู้หรือไม่ว่าในหลาย ๆ กรณีทำการแก้ไขกรณีฉุกเฉินได้ยากกว่าของอุดตันติดคอซะด้วยซ้ำไป

3 ขั้นตอนเบื้องต้นในการรับมือ

  • ควบคุมสติสัมปชัญญะไว้ให้ดี

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ สิ่งแปลกปลอมติดจมูก หรือ เศษอาหารติดโพรงจมูกของลูก ย่อมเป็นที่ตื่นตระหนกตกใจให้แก่พ่อแม่ไม่น้อย แต่การตื่นตกใจจนเกินไป จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เนื่องจากพ่อแม่จะทำอะไรไม่ถูกแล้วหากตื่นตกใจ ก็จะยิ่งสร้างความกลัวให้แก่ลูก สู้หันมาตั้งสติ ปลอบโยน และส่งกำลังใจให้ลูก เพื่อเขาจะได้ผ่อนคลาย และกลัวน้อยลง ลูกจะได้ไม่ร้องไห้ลั่น จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

  • ตรวจ ประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า

กรณีลูกโตแล้ว (พอจะทำตามคำสั่งได้) พ่อแม่ควรบอกให้ลูกหายใจทางปาก และเงยหน้าขึ้น จากนั้นส่องไฟฉายดูสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปอุดตันนั้น ว่าชิ้นใหญ่แค่ไหน อยู่ลึกหรือไม่ ถ้าอยู่ไม่ลึกนัก สามารถเอามือปิดจมูกข้างที่ไม่มีสิ่งแปลกปลอม แล้วให้ลูกสั่งน้ำมูกเบา ๆ เพื่อให้ของแปลกปลอมนั้นหลุดออกมา (โดยไม่ต้องสั่งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้แก้วหูได้รับการกระทบกระเทือนจากการสั่งน้ำมูก)

แต่อย่างกรณีของคุณแม่เจ้าของเรื่องข้างต้น ชิ้นฝรั่งอยู่ลึกเข้าไป เศษอาหารติดโพรงจมูก ที่ดูภายนอกเหมือนว่าเด็กไม่เป็นอะไรมาก แต่คุณแม่ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ไม่ปล่อยผ่าน รีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะหากอยู่ลึกเกินกว่าจะมองเห็น ต้องใช้คุณหมอที่มีทั้งความเชี่ยวชาญ และเครื่องไม้เครื่องมือที่จะตรวจสอบ และคีบออกมาได้โดยปลอดภัยเท่านั้น

ผลไม้ชิ้นเล็ก ๆ ระวังเรื่อง เศษอาหารติดโพรงจมูก
ผลไม้ชิ้นเล็ก ๆ ระวังเรื่อง เศษอาหารติดโพรงจมูก

คำเตือน… ห้ามเขี่ย-แคะ-คีบ หรือดึงเองอย่างเด็ดขาด เพราะมีโอกาสพลาดพลั้งจนสิ่งแปลกปลอมนั้นกลับยิ่งจมลึกลงไป จนยากแก่การแก้ไขยิ่งทำตกไปอยู่ด้านหลังภายในจมูก หรือสำลักเข้าไปในหลอดลมก็กลับจะทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

กรณีเด็กเล็ก (ไม่เกิน 5 ขวบ) ทางที่ดี และปลอดภัยที่สุด ให้ลูกหายใจทางปาก และรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน

  • อย่าชะล่าใจ ตรวจให้ชัด!!

ในบางรายเมื่อลูกนำสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก หรือสำลักอาหารจน เศษอาหารติดโพรงจมูก มีโอกาสที่เขายังไม่มีอาการอุดแน่นหายใจไม่ออกโดยฉับพลัน หรือในบางครั้งเด็กบางคนก็ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง เพราะกลัวความผิด และการลงโทษ จึงทำให้พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการของลูกเพิ่มเติมด้วยตนเองให้ละเอียด เพื่อจะได้รีบแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป

วิธีการสังเกตว่าลูกมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันจมูก

  1. สังเกตว่าลูกหายใจติด ๆ ขัด ๆ เหมือนคนเป็นหอบหืด หรือสังเกตว่าลูกหายใจได้เพียงรูจมูกข้างเดียวหรือไม่
  2. พบว่าลูกพยายามแหย่ แคะ หรือดันรูจมูกอยู่เรื่อย ๆ
  3. มีไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ในบางราย
  4. มีน้ำมูกใส ๆ น้ำมูกปนเลือด หรือมีน้ำมูกปนหนอง ไหลออกมาจากรูจมูกข้างเดียว
  5. ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น (เพราะเกิดการติดเชื้อ)
  6. หากสิ่งแปลกปลอมติดแน่นค้างอยู่เป็นเวลานาน จนเกิดเป็นหินปูนก้อนแข็ง ๆ เกาะติดหนึบอยู่ภายใน จะทำให้น้ำมูกมีสีเหลือง ๆ เขียว ๆ มีอาการคล้ายไซนัสอักเสบ

การที่มีสิ่งแปลกปลอมติดค้างในจมูกนาน ๆ นั้นจะทำให้เกิดอาการอักเสบหรืออุดตันมาก-น้อย เร็ว-ช้าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเจ้าสิ่งแปลกปลอมอันนั้นด้วย เช่น  ถ้าเป็นพวกเมล็ดผลไม้ หรือในกรณีเจ้าของเรื่องเป็นฝรั่ง โดยมากไม่นานก็จะบวมพองขยายตัวขึ้น และอุดตันยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นวัสดุที่มีผิวหยาบ มีส่วนแหลมคม หรือมีส่วนผสมของสารเคมี เช่น พวกตุ๊กตุ่น ลวด น้อต เศษหิน เศษไม้เล็ก ๆ เป็นต้น นานเข้าก็จะเกิดเป็นแผลในเยื่อบุช่องจมูก เกิดอาการปวดบวม อุดตัน มีน้ำมูกไหล และมีเลือดกำเดาไหล มักมีกลิ่นเหม็น ส่วนพวกวัสดุเล็ก ๆ ที่มีผิวเรียบ เช่น  เม็ดพลาสติก เม็ดกระดุม ลูกแก้ว เป็นต้น มักจะติดค้างอยู่เป็นเวลานานโดยยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ กว่าพ่อแม่จะรู้ ลูกก็มีอาการมากแล้ว

สังเกตอาการลูกต่อเนื่อง เมื่อ เศษอาหารติดโพรงจมูก แม้ไม่มีอาการ
สังเกตอาการลูกต่อเนื่อง เมื่อ เศษอาหารติดโพรงจมูก แม้ไม่มีอาการ

 ป้องกันไว้ก่อน 

  1. เลือกชนิดและขนาดของอาหารที่เหมาะสมให้แก่เด็กในวัยต่าง ๆ เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร และไม่ควรป้อนอาหารเด็กในขณะที่เด็กกำลังวิ่งเล่นอยู่
  2. เลือกชนิด  รูปร่าง และขนาดของของเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  รวมทั้งจัดเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตราย ให้ปลอดภัยจากการหยิบฉวยของเด็ก เนื่องจากเด็กเล็ก มักนั่งเล่นกับพื้น เขาจึงชอบหยิบฉวยสิ่งของที่อยู่บนพื้นเสมอ คุณพ่อคุณแม่เห็นทีจะต้องเพิ่มการปัดกวาดเช็ดถูพื้นให้บ่อยยิ่งขึ้น
  3. ลูกแม้จะอยู่ในวัยเด็ก แต่เราสามารถสั่งสอน แนะนำให้เขาเข้าใจในรูปแบบวัยของลูกได้โดยเฉพาะอันตรายจากอุบัติภัยทั้งหลาย  เช่น  เรื่องการจับใส่วัสดุทั้งหลายเข้าไปในปาก-หู-จมูก คุณพ่อคุณแม่สามารถสื่อกับลูกได้ด้วยภาษาง่าย ๆ ตรงไปตรงมาโดยใช้การทำท่าทางเข้าช่วย ยกตัวอย่างเช่น  “ลูกจะเอาไอ้นี่เข้าจมูกไม่ได้นะครับ”
    (หยิบวัสดุนั้นขึ้นมา ชี้ที่จมูก แล้วโบกมือไปมา…ไม่ได้…ไม่ได้..พร้อมแสดงสีหน้าจริงจัง)
    “ถ้าลูกเอาใส่เข้าไปในจมูก ลูกก็จะเจ็บและปวดมาก ๆ เลย”
    (ทำท่าจับจมูก และแสดงสีหน้าว่าเจ็บปวดมาก) เป็นต้น
  4. หากไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ให้สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่า เด็กเกิดการสำลักในขณะทำอะไรอยู่  เช่น กินอาหาร  ขนม  เล่นของเล่น เป็นต้น  พร้อมทั้งนำตัวอย่างของอาหาร  ขนม สิ่งแปลกปลอมที่สงสัยไปพบแพทย์ด้วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาของแพทย์
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.si.mahidol.ac.th/บทความ”ระวัง ติดแน่น อุดจมูก โดย ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

บทเรียนของแม่เมื่อทำ ลูกหาย !ประสบการณ์จริงเตือนใจ

การมองเห็นของทารก พัฒนาการที่พ่อเเม่ควรรู้

อุทาหรณ์!! “ลูกลื่นล้ม” ธรรมดาแต่นำพาสู่ การผ่าตัดใหญ่!!

โชคดีพ่อทำเป็น! ปั๊มหัวใจ ลูกชาย 3 ขวบจมน้ำ รอดหวุดหวิด!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up